มาครงโน้มน้าวสี จิ้นผิง ไม่ได้ผล จีนต้อนรับยิ่งใหญ่พิเศษ หวังได้มิตรใหม่คานอำนาจสหรัฐ

มาครงเยือนจีน
REUTERS/ Gonzalo Fuentes

นักวิเคราะห์มองว่าเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสโน้มน้าวสี จิ้นผิง ไม่ได้ผล ในเรื่องที่ขอให้ดึงสติรัสเซียเพื่อจบสงครามในยูเครน ฝั่งจีนสนใจแต่การแสวงหามิตร ต้อนรับมาครงอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ หวังจะได้มิตรใหม่เพื่อจะคานอำนาจสหรัฐ 

การเยือนจีนของเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ทั่วโลกจับตามองในช่วงวันที่ 5-7 เมษายน 2566 จบลงไปแล้ว 

เท่าที่มีข้อมูลเปิดเผยออกมาในตอนนี้ นักวิเคราะห์มองว่ามาครงไม่ประสบความสำเร็จในการโน้นน้าวสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน เรื่องการแก้ปัญหาสงครามในยูเครน แต่จีนมุ่งเน้นไปที่การฟื้นสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป จีนหวังได้ฝรั่งเศสเป็นมิตรเพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่สัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้หรืออย่างน้อยก็คานอำนาจกับสหรัฐ  

ตามรายงานของ Reuters นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า การที่สี จิ้นผิง ให้การต้อนรับเอ็มมานูเอล มาครง อย่างยิ่งใหญ่ ใช้งบประมาณมากมายกว่าที่ใช้ปกติในการต้อนรับผู้นำประเทศอื่น ๆ นั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนรุกแสวงหาพันธมิตรรายสำคัญในสหภาพยุโรปเพื่อตอบโต้สหรัฐ  

มาครงเยือนจีน
Jacques Witt/ Pool via REUTERS

สี จิ้นผิง พามาครงไปเยือนมณฑลทางใต้ของจีนในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน และยังพาไปนั่งดื่มชาจีนในบ้านที่เคยเป็นบ้านพักของของบิดาของเขา (สี จงซวิน – Xi Zhongxun) ในเมืองกว่างโจว เมืองหลวงซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการผลิตของมณฑลกวางตุ้ง

การที่สี จิ้นผิง พาผู้นำต่างชาติเดินทางไปยังเมืองอื่น ๆ ของจีนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งนักการทูตกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นการเน้นย้ำว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างมากกับความสัมพันธ์จีน-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกรายสำคัญของสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากจีนมองหาการสนับสนุน เพื่อต้านสิ่งที่สี จิ้นผิงเรียกว่า “การกักกัน ปิดล้อม และปราบปรามอย่างรอบด้าน” ที่สหรัฐกระทำต่อจีน 

Advertisment

ในขณะที่จีนต้อนรับขับสู้มาครงอย่างเต็มรูปแบบ แต่อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ซึ่งกล่าวปราศรัยเชิงวิจารณ์จีนก่อนการเดินทาง ได้รับการต้อนรับและทักทายอย่างเรียบง่ายที่สนามบิน และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานบางอย่างร่วมกับสี จิ้นผิงและมาครง 

น่าจะเป็นเพราะว่าจีนมองท่าทีของทั้งสองคนที่มีต่อจีนต่างกันออกไป ดังที่มีนักวิเคราะห์มองกันก่อนหน้านี้ว่ามาครงกับฟอน แดร์ ไลเอิน จะแบ่งบทบาทกันเป็นตำรวจดีกับตำรวจเลว โดยมาครงจะเป็นฝ่ายอ่อนโยน ส่วนฟอน แดร์ ไลเอิน จะเป็นผู้กดดัน   

Advertisment
มาครง สี จิ้นผิง
Thibault Camus/ Pool via REUTERS

การต้อนรับขับสู้และดูแลมาครงแบบสุดพิเศษ เพื่อที่จะได้มาเป็นมิตร เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการทูตของจีนในปีนี้ เนื่องจากจีนพยายามดิ้นออกจากการกักกันของสหรัฐ จีนเพิ่มงบประมาณด้านการทูต 12.2% ในปีนี้ เพื่อเดินหน้าแสวงหาพันธมิตร และได้ต้อนรับผู้นำสูงสุดของหลายประเทศที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 

จ้าว สุ่ยเฉิง (Zhao Suisheng) ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาและนโยบายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ (University of Denver) ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า นโยบายต่างประเทศทั้งหมดของจีนนั้นมีความสัมพันธ์ [อันตึงเครียด] ของสหรัฐ-จีนอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น การทำงานร่วมกับประเทศใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ อย่างเช่น ฝรั่งเศส เป็นสิ่งที่จีนพยายามจะทำเพื่อตอบโต้สหรัฐ 

โนอาห์ บาร์กิน (Noah Barkin) นักวิเคราะห์จากองค์กรวิจัยอิสระ โรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของจีนคือการป้องกันไม่ให้ยุโรปเข้ากับสหรัฐอย่างใกล้ชิดแนบแน่นมากไปกว่านี้ ซึ่งในแง่นี้ มาครงอาจเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลจีนในยุโรป เนื่องจากนักการทูตมักจะมองว่า มาครงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายหลักของสหภาพยุโรป 

“มาครงดูเหมือนจะเชื่อว่าเขาสามารถโน้มน้าวให้สีเปลี่ยนแนวทางในเรื่องสงครามยูเครนได้ เขามอบของขวัญจำนวนหนึ่งให้กับสี นั่นคือ การประณามว่าการแยกส่วนทางเศรษฐกิจเป็นกับดัก การนำคณะผู้แทนภาคธุรกิจขนาดใหญ่มาเยือนจีนด้วย และยืนยันอีกครั้งว่าเขาสนับสนุนนโยบาย strategic autonomy (นโยบายลดการพึ่งพาสหรัฐของอียู) โดยที่เขาไม่ได้รับอะไรตอบแทนมากเท่าไรนัก” บาร์กินกล่าว 

มาครงเยือนจีน
Ng Han Guan/ Pool via REUTERS

Global Times สื่อของรัฐบาลจีนเขียนในบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ว่า “เป็นที่ชัดเจนสำหรับทุกคนว่า การอยู่ภายใต้บังคับบัญชาเชิงกลยุทธ์ของวอชิงตัน (รัฐบาลสหรัฐ) นั้นเป็นทางตัน แต่การทำให้ความสัมพันธ์จีน-ฝรั่งเศสเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือจีน-ยุโรปนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และต่อโลก” 

Reuters รายงานอีกว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตของจีนกับฝรั่งเศสกำลังถูกรัฐบาลสหรัฐมองด้วยความเคลือบแคลงสงสัย โดยอ้างอิงคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งบอกว่า รัฐบาลสหรัฐรอดูการเจรจาของยุโรปกับจีนในเรื่องยูเครน 

ในขณะเดียวกัน ช่วงที่มาครงเยือนจีน ทางรัฐบาลรัสเซียก็บอกว่าเฝ้าติดตามการเจรจาระหว่างฝรั่งเศสกับจีนที่เป็นมหามิตรของพวกเขาเช่นกัน แต่ยังมั่นใจว่าจีนจะไม่เปลี่ยนไปง่าย ๆ 

ดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 9 เมษายนว่า เครมลินได้ติดตามการเจรจาระหว่างอียูและจีน และย้ำว่ารัสเซียมี “ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น” กับรัฐบาลจีน 

“จีนเป็นประเทศที่มีความจริงจังมาก มีพลังอำนาจมาก มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง … นี่ไม่ใช่ประเทศประเภทที่ว่าจะเปลี่ยนจุดยืนอย่างรวดเร็วภายใต้อิทธิพลของภายนอก” เปสคอฟกล่าวเมื่อถูกถามว่ารัสเซียกังวลหรือไม่ที่ยุโรปอาจเกลี้ยกล่อมสี จิ้นผิง เรื่องยูเครน