อินโดนีเซีย ปั้นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ดึงต่างชาติ ลดพึ่งพา “บาหลี”

อินโด

จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยัง “อินโดนีเซีย” คงหนีไม่พ้น “เกาะบาหลี” พื้นที่พักตากอากาศซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งวัฒนธรรมอันโดดเด่นและมีชื่อเสียงระดับโลก แต่การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวที่เกาะแห่งนี้กลับสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมา รัฐบาลอินโดนีเซียจึงพยายามผลักดัน 5 สถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว ให้กระจายตัวไปทั่วประเทศ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดให้สถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่งทั่วประเทศเป็น “จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญสูงสุด” ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้พื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพไม่แพ้บาหลี

“ลาบวน บาโจ” เมืองท่าที่มีภูเขาและชายหาดสวยงาม และยังเป็นประตูสู่เกาะโกโมโดที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเยี่ยมชมมังกรโกโมโดที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่อินโดนีเซียตั้งเป้ายกระดับให้เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ

ประธานาธิบดี “โจโก วิโดโด” ได้โพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า “รัฐบาลจะใช้โอกาสในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพปีนี้ ในการส่งเสริม “ลาบวน บาโจ” ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียเคยมีแผนจะใช้ลาบวน บาโจ เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “จี 20” ในปี 2022 แต่ต้องล้มเลิกไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสนามบิน ถนน และที่พักในลาบวน บาโจ ที่ยังมีคุณภาพด้อยกว่าบาหลี

นอกจากลาบวน บาโจแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีก 4 แห่งที่ได้รับการส่งเสริมคือ “ทะเลสาบโตบา” ทะเลสาบธรรมชาติทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา “ยอกยาการ์ตา” เมืองศูนย์กลางของวัฒนธรรมชวา “มันดาลิกา” เมืองชายฝั่งที่มีชื่อเสียงด้านสนามแข่งรถ และเมืองท่องเที่ยวดำน้ำอย่าง “ลิกูปัง”

รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจัดสรรงบประมาณระหว่างปี 2020-2024 รวม 18.9 ล้านล้านรูเปียห์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการยกระดับทักษะบุคลากรในสถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่งนี้

จุดหมายปลายทางทั้ง 5 แห่งนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามกระจายความมั่งคั่งไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ และลดการพึ่งพาบาหลีในฐานะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเพียงแห่งเดียว ซึ่งการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในบาหลีก็สร้างปัญหาตามมาหลายด้าน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “วายัน กอสเตอร์” ผู้ว่าการจังหวัดบาหลี ประกาศแผนออกกฎใหม่ เพื่อปราบปรามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงกลุ่ม “digital nomad” ที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งสร้างความยากลำบากในการตรวจสอบ

ปี 2019 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.1 ล้านคน โดยเกือบ 40% เป็นผู้มาเยือนบาหลี สะท้อนถึงความล้มเหลวในการกระจายปริมาณนักท่องเที่ยวไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

ข้อมูล “สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก” ระบุว่า ปี 2019 ภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วนในจีดีพีของอินโดนีเซียราว 5.6%ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่างไทยที่ 20.3% และเวียดนามที่ 7%

การพัฒนาและนำเสนอจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวนี้ จึงเป็นความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียในการยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ