โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตกลงกระชับความร่วมมือป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางความกังวลของเกาหลีใต้ สหรัฐพร้อมส่งเทคโนโลยีทางทหาร และอาวุธต่าง ๆ แต่ยังยืนยันไม่ส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้เกาหลีใต้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า วันที่ 26 เมษายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ และยุน ซอกยอล (Yoon Suk-Yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จัดการเจรจาในทำเนียบขาว และมีการลงนาม “ปฏิญญาวอชิงตัน” (Washington Declaration) ฉบับใหม่
การเจรจาหารือของผู้นำสองชาติครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ทั้งเกาหลีเหนือ เซมิคอนดักเตอร์ การค้า และสงครามยูเครน ซึ่งผู้นำสองชาติหารือเพื่อกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในเรื่องการยับยั้งการยกระดับอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับคลังแสงขีปนาวุธและระเบิดที่เพิ่มขึ้น
“วันนี้เราเฉลิมฉลองการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง วิสัยทัศน์ร่วมเกี่ยวกับอนาคตของเรา และมิตรภาพที่ลึกซึ้งของสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐอเมริกา” ไบเดนกล่าวในการต้อนรับผู้นำเกาหลีใต้ที่ทำเนียบขาว ซึ่งจัดเตรียมพิธีต้อนรับอย่างเอิกเกริก
ไบเดนและยุนใช้การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำเกาหลีใต้ในรอบกว่าทศวรรษเพื่อส่งคำเตือนถึงคิม จองอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือ
โครงการพัฒนาอาวุธที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีปที่สามารถเข้าถึงเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐได้ ทำให้เกิดคำถามจากฝั่งเกาหลีใต้ว่าสหรัฐจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องเกาหลีใต้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “การป้องปรามแบบขยาย” จริงหรือไม่
จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวกล่าวในการบรรยายสรุปการหารือครั้งนี้ว่า การประชุมสุดยอดคาดว่าจะสร้าง “ผลลัพธ์ที่สำคัญ” ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การป้องปรามเพิ่มเติม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การลดปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการลงทุนทางเศรษฐกิจ
เคอร์บีให้ข้อมูลว่า ภายใต้ “ปฏิญญาวอชิงตัน” (Washington Declaration) ฉบับใหม่ สหรัฐจะให้ข้อมูลเชิงลึกโดยละเอียดแก่เกาหลีใต้ จะรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ และจะมีแผนฉุกเฉินของสหรัฐเพื่อยับยั้งและตอบสนองต่อเหตุการณ์นิวเคลียร์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ผ่านกลุ่มที่ปรึกษาร่วมที่ชื่อว่า U.S.-ROK Nuclear Consultative Group
รัฐบาลสหรัฐจะส่งเทคโนโลยีทางการทหารไปยังเกาหลีใต้ รวมถึงเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ เพื่อแสดงแสนยานุภาพ แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐย้ำว่าจะไม่มีการส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปยังคาบสมุทรเกาหลี และเกาหลีใต้จะยังคงไม่มีอำนาจควบคุมคลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐ
ในการแถลงข่าวร่วมกันของสองผู้นำหลังจากเจรจากันแล้ว ยุนกล่าวว่าเขาและไบเดนได้ตกลงเกี่ยวกับขั้นตอนในการเสริมสร้างการป้องกันของเกาหลีใต้ เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เกิดจากเกาหลีเหนือ กล่าวคือเกาหลีใต้ตกลงที่จะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง แลกกับแผนงานป้องปราม และการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากสหรัฐ
“ทั้งสองประเทศของเราได้ตกลงที่จะปรึกษาหารือทวิภาคีระดับประธานาธิบดีทันที ในกรณีที่เกาหลีเหนือโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และสัญญาว่าจะตอบโต้อย่างรวดเร็ว รุนแรง และเด็ดขาด โดยใช้กำลังอย่างเต็มกำลังของพันธมิตร ซึ่งรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐด้วย” ยุนกล่าว
หลังจากการพูดคุยและการแถลงข่าวร่วมกันตลอดทั้งวัน ผู้นำทั้งสองชาติเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำสุดหรูที่จัดเตรียมโดยเชฟชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งมารดาของเขาอพยพมาจากเกาหลี
ทั้งนี้ การเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความวิตกกังวลอย่างสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีการสำรวจความคิดเห็นในเกาหลีใต้ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลเกาหลีใต้มีสิทธิ์ครอบครองระเบิดนิวเคลียร์เป็นของตนเอง ซึ่งฝั่งสหรัฐไม่เห็นด้วย
โดยผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 โดยสถาบันอาซานเพื่อการศึกษานโยบาย (Asan Institute for Policy Studies) ในกรุงโซล พบว่า 64% ของชาวเกาหลีใต้สนับสนุนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนอีก 33% ไม่เห็นด้วย