ตั๋วเครื่องบินราคาพุ่งทั่วโลก ต้นทุนเงินเฟ้อ หรือข้ออ้าง

ตั๋ว เครื่องบิน

ความต้องการเดินทางโดยสารเครื่องบินกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผลกระทบจากโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทำให้หลายสายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการเดินทางของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นทั่วโลก

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานผลการวิเคราะห์ล่าสุดของบริษัทวิจัยอุตสาหกรรมการบิน “ซีเรียม” (Cirium) ชี้ว่า ราคาตั๋วเครื่องบินในกว่า 600 เส้นทางทั่วโลกใน ก.พ. 2023 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นระดับตัวเลขสองหลักติดต่อกันเป็นเวลา 15 เดือน

ข้อมูลดังกล่าวสำรวจจากราคาตั๋วเครื่องบินในเส้นทางยอดนิยมทั่วโลก โดยใช้ค่าโดยสารเที่ยวเดียวโดยเฉลี่ยในชั้นประหยัด ไม่รวมภาษีและค่าธรรมเนียม ซึ่งผลการวิเคราะห์ยังพบว่าราคาตั๋วเครื่องบินในหลายเส้นทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากระดับก่อนโควิด-19

อย่างเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากท่าอากาศยานลอนดอนฮีโทรว์ของอังกฤษ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีราคาตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวเฉลี่ยในเดือน ก.พ. 2023 อยู่ที่ 343 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เช่นกันกับค่าโดยสารจากนิวยอร์กไปยังสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 887 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 45% ขณะที่เส้นทางจากดูไบไปยังแฟรงก์เฟิร์ตเฉลี่ยอยู่ที่ 360 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 51% และจากลอสแองเจลิสไปยังท่าอากาศยานเม็กซิโกซิตีอินเตอร์เนชั่นแนล ก็เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

ราคาตั๋วเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการส่งต่อต้นทุนของสายการบินไปยังผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในตลาดโลก ค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เพิ่มภาระต้นทุนให้กับสายการบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ

“ลุยส์ กาเยโก” ซีอีโอของ “ไอเอจี” บริษัทแม่ของสายการบินอย่าง บริติชแอร์เวย์, ไอบีเรีย และแอร์ลิงกัส ระบุว่า สายการบินจำเป็นต้องส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูง แต่ก็ยังคงพยายามที่จะรักษาระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้

สายการบินนับเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงโควิด-19 และขณะนี้ก็กำลังเร่งฟื้นฟูรายได้ หลังจากปี 2020-2022 สูญเสียไปกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

แต่การปรับขึ้นราคาตั๋วของสายการบินต่าง ๆ กำลังเป็นที่จับตา ว่ามีความสมเหตุสมผลกับต้นทุน หรือเป็นการใช้สถานการณ์เงินเฟ้อมาเป็นข้ออ้างในการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อแสวงหากำไร หรือที่เรียกว่า greedflation

“โอลิเวอร์ แรนสัน” กรรมการผู้จัดการจากบริษัทที่ปรึกษา แอร์ไลน์ เรฟวีนิว อีโคโนมิกส์ ระบุว่า จากความต้องการเดินทางที่สูง ทำให้สายการบินใช้วิธีการขึ้นราคาตั๋วตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรือการขึ้นราคาสำหรับผู้จองตั๋วในนาทีสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ความเต็มใจที่จะจ่ายค่าตั๋วราคาแพงของผู้โดยสาร ก็เน้นย้ำถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในภาคการบิน ซึ่งเห็นได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของสายการบินต่าง ๆ อย่าง “อเมริกันแอร์ไลน์” ที่เปิดเผยรายได้ในไตรมาส 1/2023 อยู่ที่ 12,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 37% จากไตรมาส 1/2022

ขณะที่ “ลุฟท์ฮันซ่า” ก็มีรายได้ในช่วงไตรมาสแรกที่ 7,020 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนไอเอจีก็มีรายได้ 5,889 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 71.4% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งสายการบินต่างก็คาดการณ์ว่าความต้องการเดินทางจะยิ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้