
ผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการสู้รบ หยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และดำเนินตามแผนสันติภาพที่เคยตกลงกันไว้
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Reuters (รอยเตอร์) รายงานว่า การประชุมผู้นำประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือประชาคมอาเซียน (ASEAN) ครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการสู้รบกับประชาชนในทันที เป็นความพยายามที่จะสร้างโอกาสสำหรับการเจรจาเร่งด่วนและการส่งมอบความช่วยเหลือในขณะที่การสู้รบทวีความรุนแรงขึ้น
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- ราคายางใกล้แตะ 50 บาท/กก. กระทบโรงงานน้ำยางข้นต้นทุนพุ่ง-จ่อปิดตัว
- เตือน 10 จังหวัด เตรียมพร้อมยกของขึ้นที่สูง รับมือสถานการณ์น้ำ
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซึ่งจัดขึ้นในขณะที่กองทัพเมียนมาเพิ่มการโจมตีต่อกองกำลังต่อต้านรัฐประหารและชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และไม่กี่วันหลังจากที่มีการโจมตีขบวนรถทูตอาเซียนและเจ้าหนาที่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยความรุนแรงที่เกิดหลังรัฐประหาร
การประชุมครั้งนี้ถูกคาดหมายว่าจะได้เห็นการหารือกันของเหล่าผู้นำชาติสมาชิกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์นองเลือดในเมียนมา
อาเซียนซึ่งมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของชาติสมาชิกได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นต่อรัฐบาลทหารของเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาไม่แสดงเจตจำนงที่จะดำเนินตามแผนสันติภาพ 5 ข้อ อันเป็น “ฉันทามติ” ที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาตกลงกับสมาชิกอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน 2564 ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาทำรัฐประหาร และอาเซียนไม่ให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ผู้นำอาเซียนพยายามจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและทันท่วงทีต่อผู้ประสบภัยในเมียนมา และต่อการเจรจาที่ครอบคลุมระดับชาติ
“เรากังวลอย่างมากกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการใช้กำลังทุกรูปแบบโดยทันที” แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปี 2566 กล่าวว่า กลุ่มอาเซียนควรพูดและพูดอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันในประเด็นซึ่งท้าทายที่สุดนี้
“อาเซียนจะเพียงแต่นิ่งเฉย หรืออาเซียนจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนสันติภาพหรือการเติบโตได้” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเหมือนผู้นำอาเซียนยุคปัจจุบันกล่าว
ทั้งนี้ การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม แต่ได้ส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมแทน