2 ปีรัฐประหารเมียนมา : 4 เรื่องราวของพลเรือนที่ถูกกระทบ และทหารที่รักษาอำนาจ

 

 ฮาน เลย์ มิสแกรนด์เมียนมา 2020 วัย 23 ปี ที่เริ่มชีวิตใหม่ในแคนาดา

Reuters
ฮาน เลย์ มิสแกรนด์เมียนมา 2020 วัย 23 ปี ที่เริ่มชีวิตใหม่ในแคนาดา

1 ก.พ. 2521 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ควบคุมตัวเธอและนักการเมืองพลเรือนอีกหลายคน

ทหารอ้างเหตุ “ความไม่มั่นคงทางการเมือง” หลัง “พบความผิดปกติในการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป” แต่งตั้ง พล.อ. มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดีรักษาการ

ผ่านไป 2 ปี เมียนมาเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง การสูญเสียชีวิต และการพลัดถิ่นอาศัย

Acled หน่วยงานในสหรัฐฯ ที่เฝ้าสังเกตความขัดแย้งของโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตราว 1.9 หมื่นคนในเมียนมา หลังการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาลเผด็จการ นำไปสู่การจับอาวุธสู้กับกองทัพ

หน่วยงานของสหประชาชาติกล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และชี้ว่ามีผู้คนราว 1.2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ในจำนวนนั้นกว่า 7 หมื่นคน ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

รัฐบาลชาติตะวันตกคว่ำบาตรผู้เกี่ยวข้องกับนายทหารที่ก่อการรัฐประหารและสังหารประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้ภาคเอกชนเลิกทำธุรกิจกับรัฐเผด็จการ และไม่คบค้ากับบริษัทเอกชนที่ค้าขายกับระบอบเผด็จการในเมียนมา ซึ่งรวมถึงการที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ได้ประกาศ ถอนการลงทุน จาก บมจ. ปตท. หรือ PTT และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ฐานเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่รัฐบาล-กองทัพเมียนมา เป็นเจ้าของ

บีบีซีไทย เลือกเรื่องราวของผู้คนที่พลัดถิ่นจากการปราบปรามสังหารประชาชน และการรักษาอำนาจของผู้นำเผด็จการ ผ่านภาพเหล่านี้

1.      ฮาน เลย์ มิสแกรนด์เมียนมา 2020 วัย 23 ปี ที่เริ่มชีวิตใหม่ในแคนาดากับครอบครัวผู้อพยพเชื้อสายเมียนมา หลังมาลี้ภัยชั่วคราวในไทย จนถูกตำรวจไทยคุมตัวไว้ชั่วคราวที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 21 ก.ย. 2022 โดยเธอได้รับแจ้งว่าอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ต้องการตัวของตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล

รอยเตอร์รายงานขณะนั้นว่าเธอถูกห้ามเข้าไทยเมื่อ 21 ก.ย. หลังกลับจากเวียดนาม โดยอ้างว่าเธอใช้หนังสือเดินทางไม่ถูกต้อง ส่วนตัวเธอบอกกับบีบีซีแผนกภาษาพม่าว่าทางการเมียนมาแจ้งต่อทางการเวียดนามว่าหนังสือเดินทางของเธอสูญหาย และเมื่อเธอมาถึงไทย เธอก็ถูกห้ามเข้าประเทศ ในเวลาต่อมา

ไม่กี่วันต่อมา เธอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาให้ลี้ภัยทางการเมือง

Han Lay

Reuters

2.    จอ ซา มิน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหราชอาณาจักร ถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อ 7 เม.ย. 2021 หลังผู้ช่วยทูตทหารได้เข้ายึดสถานทูตเมียนมาในกรุงลอนดอน และห้ามไม่ให้เขาเข้าไปในสถานทูต ซึ่งเป็นเหตุการณ์เผชิญหน้าทางการทูตในรอบหนึ่งเดือนหลังจากนายจ่อ ซา มิน แสดงท่าทีเห็นต่างจากรัฐบาลทหารด้วยการออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกกองทัพยึดอำนาจและจับกุมตัวไป

ผ่านไปเกือบ 2 ปี เขายังพำนักอยู่ในทำเนียบทูตในกรุงลอนดอน

Myanmar former envoy

Reuters
 จอ ซา มิน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหราชอาณาจักร

3.  ครูมัธยมต้นคนหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยตัว เธอหลบหนีการจับกุมในเมียนมาร์เมื่อปีที่แล้วมาอาศัยอยู่ที่เมืองชายแดนไทย เธอเป็นหญิงตัวเล็กผมยาวสีดำ เธอเข้าร่วมกับแนวร่วมอารยะขัดขืน หรือ CDM ที่ผุดขึ้นหลังรัฐประหาร

“ฉันรู้ว่าชีวิตฉันจะลำบากถ้าฉันเข้าร่วมกับขบวนการ” เธอกล่าวกับรอยเตอร์  “แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้ อนาคตของพวกเราก็จะไม่ปกติ”

เธอเข้าร่วมการประท้วงบนท้องถนนโดยเครื่องแบบครูสีเขียวและสีขาว แล้วหลบหนีออกนอกประเทศหลังการปราบปรามผู้ประท้วง

เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจำนวนมากในประเทศไทย เธอไม่มีเอกสาร และใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม

เธอประทังชีพด้วยการถักกระเป๋าและเสื้อผ้า มีรายได้ไม่ถึงสัปดาห์ละ 350 บาท  และต้องอาศัยอาหารที่บริจาคมาจากรัฐบาลของฝ่ายต่อต้าน

“ฉันจะเป็นสมาชิก CDM ไปจนจบ” เธอกล่าว “มนุษย์ต้องผ่านทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายไปให้ได้”

เครื่องแบบครูสีเขียวและสีขาวของเธอถูกพับเก็บไว้อย่างเรียบร้อยในเมียนมา เผื่อเธอกลับไป

Teacher

Reuters
เธอประทังชีพด้วยการถักกระเป๋าและเสื้อผ้า มีรายได้ไม่ถึงสัปดาห์ละ 350 บาท

4.  ผู้นำทหารไทยพบผู้นำรัฐประหารเมียนมา พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขอไทย นำคณะทหารไทยเข้าร่วมหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาเมื่อ 20 ม.ค. ณ เมืองงาปาลี รัฐยะไข่ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารระหว่างกองทัพไทย–เมียนมา ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนไทย–เมียนมา รวมทั้งปัญหาเฉพาะอื่น ๆ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวชายแดนทั้งสองประเทศ

เอกสารข่าวเผยแพร่ของกองทัพไทยระบุว่ากองทัพไทยยึดมั่นในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงชายแดนที่เกี่ยวกับกองทัพไทย กับกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด้านเมียนมา ซึ่งมีเส้นเขตแดนติดกันมากที่สุดมีความยาวถึง 2,401 กิโลเมตร

“มีความจำเป็นที่ทั้งสองกองทัพจะดำรงไว้ ซึ่งความสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ และเป็นการป้องกันปัญหาในพื้นที่ชายแดนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับประเทศ บรรยากาศการประชุมเต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ บนพื้นฐานของความจริงใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว