
ประเด็นหารือที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยมีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน บินมาร่วมประชุมด้วยในฐานะแขกรับเชิญพิเศษ
กว่าจะมาถึงการประชุมผู้นำในวันที่ 19-21พฤษภาคม 2566 นี้ ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 หารือกันมาหลายครั้งและเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มอีก เพื่อตอกย้ำความตั้งใจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลกในการสนับสนุนยูเครนและบีบรัสเซียให้จนมุม
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- วันหยุดเดือนมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดชดเชย วันสำคัญ
- อนุทินเปิดตัวภรรยาคนที่ 3 หลังหย่าแจก 50 ล้าน จ่ายเงินสดรายเดือนตลอดชีพ
แถลงการณ์ร่วมของผู้นำกลุ่ม G7 ให้คำมั่นว่า G7 “ยืนยันความมุ่งมั่นของเราที่จะยืนหยัดร่วมกันต่อต้านการทำสงครามอันผิดกฎหมาย ไม่มีเหตุผลอันสมควร และปราศจากการยั่วยุ ที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน”
มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของประเทศต่าง ๆ มีอะไรบ้าง
G7 ทุกประเทศเล็งแบนเพชรรัสเซีย
ในแถลงการณ์ของผู้นำ G7 ที่ออกในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ให้คำมั่นว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อการเข้มงวดทางการค้าและการใช้เพชรจากเหมืองในรัสเซีย เพชรที่ผลิตในรัสเซีย หรือผ่านกระบวนการผลิตบางขั้นตอนในรัสเซีย และจะร่วมมือกันเพิ่มเติมในการออกมาตรการที่เข้มงวด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับ
ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม G7 ที่จะติดตามและตรวจสอบการเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนของเพชรรัสเซีย เป็นการปูทางไปสู่การห้ามนำเข้าเพชรรัสเซียในอนาคต
ทั้งนี้ มีบางประเทศที่ได้ประกาศแบนการนำเข้าเพชรรัสเซียชัดเจนแล้ว นั่นคือ สหราชอาณาจักร

สหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีคว่ำบาตรเพิ่ม 300 รายการ
สหรัฐอเมริกาประการมาตรการคว่ำบาตรต่อบุคคล องค์กร เรือ และเครื่องบินของรัสเซีย รวมถึงจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ที่สนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย รวมจำนวน 300 รายการ
และเพิ่มความเข้มงวดการนำเข้าและส่งออกสินค้าในหมวดหมู่สินค้าที่มีความสำคัญต่อการทำสงคราม พร้อมกับขึ้นบัญชีดำทางการค้าบริษัท 70 บริษัทจากรัสเซีย และบางบริษัทจากประเทศที่สาม
อังกฤษแบนเพชร โลหะมีค่า บริษัทและบุคคลกว่า 86 รายชื่อ
ก่อนการประชุม G7 เริ่มขึ้น สหราชอาณาจักรประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียก่อนแล้วส่วนหนึ่ง โดยห้ามนำเข้าเพชร เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม และนิกเกิลจากรัสเซีย
ในการประชุม G7 สหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยกำหนดเป้าหมายเป็นบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมธัญพืชของยูเครน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งพลังงานและอาวุธของรัสเซียจำนวนทั้งหมด 86 ราย ทำให้ตอนนี้รายการคว่ำบาตรรัสเซียของสหราชอาณาจักรมีมากกว่า 1,500 รายการ
ตัวอย่างบริษัทและบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรจากอังกฤษ คือ บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ Rosatom (โรซาตอม) และอิกอร์ อัลทูชกิน (Igor Altushkin) เจ้าของบริษัท Russian Copper Company
สหภาพยุโรป (EU) เข้มงวดนำเข้าเพชร
สำหรับสหภาพยุโรป หรืออียู ชาร์ลส มิเชล (Charles Michel) ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) แถลงว่า สหภาพยุโรปพยายามเพิ่มความเข้มงวดการนำเข้าเพชรจากรัสเซีย เพื่อจำกัดความสามารถในการขายเพชรของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของรัสเซีย
แต่ยังไม่แน่ว่าสหภาพยุโรปจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ความพยายามที่จะคว่ำบาตรเพชรรัสเซียถูกต่อต้านจากเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางการค้าเพชรของโลก เบลเยียมมีข้อกังวลและข้อโต้แย้งว่า หากสหภาพยุโรปห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซีย อาจส่งผลให้ศูนย์กลางการค้าเพชรของโลกย้ายจากเบลเยียมไปอยู่ที่อื่นซึ่งไม่ได้มีนโยบายกีดกันเพชรรัสเซีย

ญี่ปุ่นจัดการอีกเกือบ 200 รายชื่อ
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการอายัดทรัพย์สินของบุคคลและองค์กรราว 100 รายที่พยายามหลบเลี่ยงบทลงโทษหรือมาตรการคว่ำบาตรเดิมที่มีอยู่
ญี่ปุ่นห้ามการส่งออกไปยังองค์กรประมาณ 80 แห่งในรัสเซียที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ และธุรกิจญี่ปุ่นถูกห้ามไม่ให้ให้บริการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแก่ลูกค้าชาวรัสเซียด้วย
แคนาดาขึ้นบัญชีเพิ่ม 70 กว่าราย
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หนึ่งวันก่อนการประชุม G7 เริ่มขึ้น รัฐบาลแคนาดาได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎระเบียบด้านมาตรการเศรษฐกิจพิเศษ (รัสเซีย) หรือมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยเพิ่มบุคคล 17 คนและนิติบุคคล 18 รายชื่อ ซึ่งบุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับบริษัทรัสเซียที่ให้บริการเทคโนโลยีและความรู้ทางทหารแก่กองทัพรัสเซีย สมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่มีรายชื่อ และสมาชิกของชนชั้นสูงในรัฐบาลรัสเซีย
นอกจากนั้น แคนาดายังระบุรายชื่อบุคคลสัญชาติรัสเซีย 30 ราย และองค์กรสัญชาติรัสเซีย 8 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบังคับอพยพเด็กจากยูเครนไปอยู่ในการดูแลของรัสเซีย