รัฐมนตรีคลังสหรัฐเรียกร้อง G7 ช่วยประเทศกำลังพัฒนาต้านภัยคุกคามจากจีน-รัสเซีย

รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ประชุม G7
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ/ Shuji Kajiyama/ Pool via REUTERS

เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้สมาชิกกลุ่ม G7 ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการต่อต้านภัยคุกคามจากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างจีนและรัสเซีย 

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้สมาชิกกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย 7 ประเทศ ร่วมกันสร้าง resilience ทางเศรษฐกิจ หรือความพร้อมในการรับมือและฟื้นตัวเมื่อเผชิญวิกฤต เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการต่อต้านภัยคุกคามจากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น จีนและรัสเซีย 

“เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่เพิ่ม resilience (ศักยภาพ-ความพร้อมในการรับมือและฟื้นตัวเมื่อเผชิญวิกฤตปัญหา) ให้กับพวกเราเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง resilience ให้กับพันธมิตรของพวกเรา รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก” เยลเลนกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองนีงะตะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2566 นี้ 

ประเด็นหารือหลักของการประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 ครั้งนี้คือ การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เรียกว่า “Global South” (โลกใต้-เป็นอีกคำที่ใช้เรียกกลุ่มประเทศโลกที่สาม) ซึ่งหลายประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนและรัสเซีย และมีท่าทีไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่อสถานการณ์ในยูเครน และวาระการประชุมจะหารือประเด็นการเพิ่มการสนับสนุนยูเครน และเพิ่มการคว่ำบาตรรัสเซียด้วย 

ในการประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 ครั้งนี้ ญี่ปุ่นในฐานะประธานได้ใช้สิทธิเชิญผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้าร่วมการประชุมด้วย ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และบราซิล ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าภาพการประชุม G20 ในปี 2565, 2566 และ 2567 ตามลำดับ และได้เชิญประเทศคอโมโรส ประธานสหภาพแอฟริกา เข้าร่วมการประชุมวิชาการ ซึ่งการประชุมในวันศุกร์จะหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ความเปราะบางด้านหนี้สินของประเทศเกิดใหม่ 

รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ประชุม G7
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ/Shuji Kajiyama/Pool via REUTERS

เยลเลนกล่าวว่า “ตั้งตารอที่จะทำงานร่วมกับกลุ่ม G7 เพื่อตอบโต้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ที่ญี่ปุ่นเป็นประธาน 

Advertisment

เยลเลนกล่าวอ้างอิงไปถึงสุนทรพจน์ที่เธอกล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเธอสังเกตว่าสหรัฐมีเครื่องมือมากมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติจากการกระทำของจีน เธอย้ำว่าประเทศของเธอจะปฏิบัติการอย่างเจาะจงเป้าหมายหากจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่ม G7 ที่จะร่วมกันลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์

เยลเลนยังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่ม G7 ที่จะกระจ่ายห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และยานพาหนะไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานอยู่ในจีนในระดับเข้มข้นสูง เธอบอกว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เรียกว่า “friend-shoring” คือการตั้งฐานการผลิตและจัดหาสินค้าในห่วงโซ่อุปทานจากพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเท่านั้น 

Advertisment

 G7 กำลังแก้ไขปัญหาโดยการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตแร่ธาตุรายใหญ่และสินค้าหลักอื่น ๆ ให้มีบทบาทในฐานะซัพพลายเออร์มากขึ้น

“ฉันรอคอยที่จะหารือถึงวิธีการเป็นพันธมิตรกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยให้พวกเขารวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการค้าโลกได้ดียิ่งขึ้น ในลักษณะที่ขับเคลื่อนประเทศต่าง ๆ เข้าสู่กิจกรรมที่ให้การสนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศมากขึ้น” เยลเลนกล่าว 

เยลเลนวางแผนที่จะกลับบ้านทันทีหลังการประชุมจบลง เนื่องจากสถานการณ์ในสหรัฐนั้นไม่สู้ดี มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากสภายังไม่เห็นชอบให้เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ และเงินสดของสหรัฐอาจหมดเร็วที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งเยลเลนเชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และทำให้ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองของโลกลดลง 

“การผิดนัดชำระหนี้อาจสร้างหายนะทางเศรษฐกิจและการเงิน” และ “เป็นความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ” เธอกล่าวพร้อมเรียกร้องให้สภาคองเกรสดำเนินการขยายเพดานหนี้สาธารณะ หรือระงับเพดานหนี้สาธารณะโดยเร็ว