บทสรุปการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ว่าด้วยความกังวลเกี่ยวกับภัยจากรัสเซีย จีน-ไต้หวัน และท่าทีของฝรั่งเศส แม้ถ้อยแถลงบอกว่ากลุ่ม G7 มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่ลึก ๆ แล้วอาจไม่จริง เพราะยุโรปกับสหรัฐมีความเห็นต่อเรื่องจีน-ไต้หวันไม่ตรงกันเต็มร้อย
การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ซึ่งจัดการประชุม 3 วัน (16-18 เมษายน 2566) ที่ประเทศญี่ปุ่น มีประเด็นไฮไลต์อยู่สองสามประเด็นหลัก คือ ความกังวลต่อภัยจากรัสเซีย ความกังวลต่อความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่ม G7 เอง ที่ถูกตั้งคำถาม หลังจากผู้นำฝรั่งเศสเยือนจีนแล้วมีท่าทีที่จะเป็นกลาง ในขณะที่อียูเป็นพันธมิตรของสหรัฐ
สำนักข่าว Reuters รายงานจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) กล่าวว่า พวกเขามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นในการหารือถึงเรื่องที่จีนเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน และเรื่องภัยคุกคามจากการที่รัสเซียติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส ขณะที่รัสเซียยังคงทำสงครามในยูเครน
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของ G7 อยู่ในระดับแน่นแฟ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงข่าวหลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ในเมืองตากอากาศ คารุอิซาวะ ประเทศญี่ปุ่น
การแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวหลังจากเดินทางเยือนประเทศจีนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า สหภาพยุโรป (อียู) ควรลดการพึ่งพาสหรัฐ และเตือนอียูไม่ให้ถูกดึงเข้าสู่วิกฤตในความขัดแย้งประเด็นไต้หวัน
แถลงการณ์ของกลุ่มผู้นำ G7 มุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่รัสเซียแทรกแซงประเทศอื่นด้วยกำลังทางการทหาร และความกังวลเรื่องการใช้กำลังทางการทหารของจีนต่อไต้หวัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการประชุม
เมื่อเดือนที่แล้ว วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีพิสัยใกล้ เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรทางทหารองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กำลังขยายพรมแดนที่ติดกับรัสเซีย (หลังนาโต้รับฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก)
นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ที่รัสเซียสั่งประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของประเทศอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าที่รุนแรงขึ้นกับชาติตะวันตกในเรื่องยูเครน
กลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา บอกว่า คำขู่ของรัสเซียที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ พวกเขาบอกว่า การใช้อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ในยูเครน ย่อมจะส่งผลอย่างรุนแรงตามมา
ส่วนประเด็นไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตน รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ยังเห็นพ้องกันว่าสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญอย่างมาก และต่อต้านการใช้กำลังทางทหารในทะเลจีนใต้ พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนทำหน้าที่เป็น “สมาชิกที่มีความรับผิดชอบ” ของสังคมระหว่างประเทศ
ถึงแม้ถ้อยแถลงจะบอกถึงความแน่นแฟ้นในกลุ่ม G7 แต่ Nikei Asia รายงานว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม G7 ซับซ้อนกว่านั้น
โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยความคิดเห็นของ แคทเธอรีน โคลอนนา (Catherine Colonna) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส จากการหารือประเด็นเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกและปฏิบัติการต่าง ๆ ของจีนในภูมิภาค
ฮายาชิอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสว่า รัฐบาลฝรั่งเศสคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดจากการใช้กำลังเพียงฝ่ายเดียว และพยายามแก้ไขปัญหาความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันอย่างสันติ
คำพูดของมาครงที่ให้สัมภาษณ์ระหว่างเยือนจีนค่อนข้างจะสร้างความกังวลใจภายในกลุ่ม G7
ผู้นำฝรั่งเศส หนึ่งในสมาชิกระดับหัวแถวของสหภาพยุโรปบอกว่า ยุโรปไม่มีความสนใจที่จะเร่งให้เกิดวิกฤตในกรณีไต้หวัน และควรดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ที่เป็นอิสระจากทั้งสหรัฐและจีน
“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การคิดว่าสหภาพยุโรปต้องเป็นผู้ตามในประเด็นนี้ และปรับไปตามจังหวะของอเมริกา และปฏิกิริยาที่มากเกินไปของจีน” มาครงกล่าว
หลังจากที่คำพูดของเขาถูกเผยแพร่ออกมา รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามจะสร้างความมั่นใจให้กับญี่ปุ่นว่า จุดยืนของฝรั่งเศสต่อเรื่องไต้หวันนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป แต่ปัญหานี้มีรากมาจากความกังวลที่มีมาอย่างยาวนาน เกี่ยวกับทัศนคติที่ต่างกันของสหรัฐและยุโรปที่มีต่อจีน
คริสโตเฟอร์ จอห์นสโตน (Christopher Johnstone) ที่ปรึกษาอาวุโสของ Center for Strategic and International Studies และอดีตผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ วิเคราะห์ว่า perception (ความรับรู้และเข้าใจ) ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ที่มีต่อประเด็นความท้าทายที่เกิดจากจีน ยังมีช่องว่าง ไม่ได้เห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นได้จากความคิดเห็นของมาครงเมื่อเร็ว ๆ นี้
โทเบียส แฮร์ริส (Tobias Harris) นักวิจัยอาวุโสของ German Marshall Fund of the United States แสดงความเห็นว่า ความสามัคคีในหมู่ชาติสมาชิก G7 ก็เป็นสิ่งจำเป็น “หากพวกเขาสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันในหมู่พวกเขาได้ ก็จะมีอิทธิพลต่อวาระการประชุมระดับโลกได้ … โดยพื้นฐานแล้ว ถ้า G7 ไม่มีสิ่งนั้นอยู่จริง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมันขึ้นมา”