ยูโรโซน หรือกลุ่ม 20 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เมื่อจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2566 หดตัว 0.1% ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2565 ที่หดตัว 0.1% เช่นกัน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นยุโรป Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานสถิติของสหภาพยุโรปเปิดเผยประมาณการณ์เศรษฐกิจยุโรปไตรมาส 1 ปี 2566 ว่า ยูโรโซน (20 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร) เศรษฐกิจหดตัว 0.1% ขณะที่สหภาพยุโรป (37 ประเทศ) เศรษฐกิจขยายตัว 0.1%
เศรษฐกิจของยูโรโซนหดตัวเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2565 ที่หดตัว 0.1% เช่นกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ยูโรโซนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว
เศรษฐกิจของยูโรโซนถูกดึงลงโดยเศรษฐกิจเยอรมนีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วในไตรมาส 1 ปี 2566
หลังจากที่เยอรมนีเปิดเผยตัวเลขที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Eurostat ก็ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของยูโรโซนลงจากก่อนหน้านั้นที่ประมาณการว่าเศรษฐกิจจะโตได้เล็กน้อย
นอกจากเยอรมนีที่จีดีพีหดตัว 0.3% แล้ว ไอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จีดีพีหดตัวลงถึง 4.6% โดยเหตุปัจจัยที่ทำให้จีดีพีหดตัวลงก็คือ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้เงิน อุปสงค์จึงลดลง
ริคคาร์โด ฟาเบียนี (Riccardo Fabiani) นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics (ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์) คาดการณ์ว่า ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เศรษฐกิจยูโรโซนจะ “เติบโตอย่างแผ่วเบา” เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงเพิ่มสูงขึ้นและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่