“เยอรมนี” ส่งออกจีนลดฮวบ สะเทือนเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งอียู

เยอรมนี

“เยอรมนี” กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยัง “จีน” ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ ทั้งที่จีนกำลังเดินหน้าฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สะท้อนความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของเยอรมนี ซึ่งอาจสะเทือนถึงสถานภาพเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู)

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า ตัวเลขส่งออกของเยอรมนีไปจีนช่วง 4 เดือนแรกของปี 2023 ลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการวิเคราะห์ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ตอกย้ำระดับการแข่งขันที่อ่อนแอลงของธุรกิจเยอรมนี ท่ามกลางอุปสงค์ของจีนที่กลับมาฟื้นตัว

โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีต่างรายงานยอดขายที่ตกต่ำลงในจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดจีนมากขึ้น จากการขยายตัวของผู้ผลิตรถจีน “โฟล์คสวาเกน” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี รายงานยอดขายในจีนช่วงไตรมาส 1/2023 ลดลง 15% รวมถึง “บอช” ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยอดขายในเอเชีย-แปซิฟิกลดลง 9.3%

สาเหตุหลักมาจากการสูญเสียความสามารถการแข่งขันของค่ายรถเยอรมนีในจีน เนื่องจากชาวจีนหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขนาดเล็กจากผู้ผลิตจีนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของเยอรมนีลดลง โดยภาคส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 15% ของการส่งออกทั้งหมดของเยอรมนี

ขณะที่ ราคาพลังงานในยุโรปที่แม้จะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง กลายเป็นปัจจัยที่กดดันอุตสาหกรรมเยอรมนี โดยเฉพาะ “บีเอเอสเอฟ” ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งกำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ในจีน ซึ่งไตรมาสแรกก็รายงานยอดขายในจีน 2,300 ล้านยูโร ลดลงถึง 29%

“โอลิเวอร์ ราเคา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เยอรมนีจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า ปริมาณผลผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์ของเยอรมนีได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน และส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันในระยะยาว

โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือน มี.ค.ยังลดลงมากสุดในรอบ 12 เดือน เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลง รวมทั้งผู้ส่งออกเยอรมนียังได้รับผลกระทบจากเงินยูโรที่แข็งค่า

“คาร์สเตน เบอร์สกี” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจระดับโลกจากธนาคารไอเอ็นจี (ING) ยังชี้ว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับอเมริกา ยังส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าเยอรมนีของจีน

“เยอรมนีถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของสหรัฐ ซึ่งนำมาสู่การกีดกันการซื้อสินค้าของเยอรมนีมากขึ้น ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย”

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าไปจีนของสมาชิกอียู 27 ประเทศในไตรมาส 1 โต 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอกย้ำว่า เยอรมนีกำลังสูญเสียสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนให้กับประเทศอื่น ๆ ในอียู โดยเยอรมนีมีสัดส่วนตลาดลดลงมาอยู่ที่ราว 6% ถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดนับแต่ปี 2016


ทั้งหมดนี้สวนทางกับความคาดหวังที่มองว่าเยอรมนีจะได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว ภายหลังการยกเลิกข้อจำกัดโควิด-19 ของจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่กลับกลายเป็นการส่งออกที่ลดลง เป็นปัจจัยท้าทายประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอียู