“เยอรมนี” เป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งเสี่ยงที่จะกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการดึงดูดแรงงานต่างชาติ ก่อนที่ระเบิดเวลาลูกนี้จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ดอยต์เชอเว็ลเลอ สื่อเยอรมนีรายงานว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปอย่าง “เยอรมนี” ส่งสัญญาณดังขึ้น หลายบริษัทกำลังประสบความยากลำบากในการหาบุคลากรที่มีทักษะและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน
“อันเดรอัส ราเดอ” กรรมการผู้จัดการของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี (VDA) ระบุว่า “ภาวะขาดแคลนแรงงานมีทักษะกำลังเป็นความท้าทายหลักสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี” ซึ่งผลสำรวจล่าสุดพบว่ามีบริษัทยานยนต์ของเยอรมนีมากถึง 3 ใน 4 ที่ประสบปัญหาวิกฤตแรงงาน
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนการส่งออกเยอรมนี “ธิโล บรอดต์แมนน์” กรรมการบริหารของสมาคมฯ ระบุว่า “กว่า 70% ของบริษัทในภาคส่วนนี้กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง และคาดว่าจะเลวร้ายลงตลอดปี 2023”
ขณะที่ “ซาบริน่า ไฟเฟอร์” เจ้าหน้าที่ของสมาคมผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เยอรมนี ระบุว่า กว่า 40% ของบริษัทในอุตฯอิเล็กทรอนิกส์กำลังเผชิญปัญหาการหาบุคลากรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ที่ขาดแคลนอย่างหนัก และคาดว่าจำนวนแรงงานที่จะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะส่งผลให้เกิดสงครามแย่งชิงแรงงานทักษะครั้งใหญ่
อย่างไรก็ดี วิกฤตแรงงานของเยอรมนีที่ทวีความรุนแรงในขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากจำนวนแรงงานที่ลดลง เพราะข้อมูลการจ้างงานของเยอรมนีปี 2022 พบว่ามีการจ้างงานชาวเยอรมันมากถึง 45.6 ล้านคน เป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 1990
“เอนโซ เวเบอร์” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยการจ้างงานเยอรมนี (IAB) ชี้ว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะขณะนี้เกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของธุรกิจต่างๆ มากกว่าการลดลงของจำนวนแรงงาน แต่ยอมรับว่าเยอรมนีจะเกิดการลดจำนวนลงของแรงงานครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 2020 นี้ จากการเกษียณอายุของแรงงานรุ่นเบบี้บูมเมอร์
สอดคล้องกับ “ฮูเบอร์ตุส เฮล” รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า “สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงเมื่อคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เกษียณอายุ และจะทำให้เยอรมนีขาดแคลนแรงงานถึง 7 ล้านคนภายในปี 2035 ถ้าเราไม่เร่งดำเนินการอะไรบางอย่าง”
การดึงดูดแรงงานทักษะจากต่างประเทศจึงเป็นทางออกหนึ่งที่รัฐบาลเยอรมนีเร่งผลักดัน ด้วยการออกกฎหมายปฏิรูปการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานต่างชาติสามารถทำงานในเยอรมนีได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองการประกอบวิชาชีพของเยอรมนี
นอกจากนี้ ยังจะมีการเสนอร่างกฎหมายให้ต่างชาติสามารถขอสัญชาติเยอรมันได้ง่ายขึ้น ทั้งการผลักดันแคมเปญ “Make It in Germany” เพื่อนำเสนอความเป็นมิตรและความน่าดึงดูดของเยอรมนี โดยมุ่งเป้าไปที่การโน้มน้าวแรงงานต่างชาติมีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ