
เยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่อันดับ 4 ของโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อ GDP ไตรมาสแรกปี 2566 หดตัวอีก 0.3% ต่อเนื่องจากที่ไตรมาส 4 ปี 2565 ที่หดตัวไปก่อนแล้ว
เยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เศรษฐกิจติดลบไป 0.5% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปครึ่งทาง
- #dek66 สร้างตำนานเปลี่ยนไทม์โซนมือถือเข้าดูคะแนน TCAS ก่อนเวลา
- เปิดประวัติ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯ ททท.คนใหม่
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า หน่วยงานสถิติของเยอรมนีเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2566 ครั้งที่ 1 ซึ่งประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีในไตรมาส 1 ปี 2566 หดตัวอีก 0.3% หลังปรับผลของฤดูกาลแล้ว
การที่ GDP ติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน มีความหมายว่าเศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” (recession) อย่างเป็นทางการแล้ว
แรงกดดันอันหนักอึ้งของภาวะเงินเฟ้อทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง และเป็นตัวฉุดจีดีพีลง โดยการบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) หลังปรับผลของฤดูกาลแล้ว และการใช้จ่ายของภาครัฐก็ลดลงอย่างมาก 4.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)
แต่ในทางตรงข้าม การลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น หลังจากที่อ่อนแอในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 การลงทุนในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีก็ทำผลงานได้ดี โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% ขณะที่การนำเข้าลดลง 0.9%
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่เพียงพอจะทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาสแรกของปีนี้รอดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และคำถามใหม่ในตอนนี้คือ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เยอรมนีจะฟื้นตัวได้หรือไม่
คาร์สเทน เบรสกี (Carsten Brzeski) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มหภาคระดับโลกของสถาบันการเงิน ING กล่าวว่า สภาพอากาศในฤดูหนาวที่ไม่หนาวมาก การฟื้นตัวของกิจกรรมภาคการผลิต การเปิดประเทศอีกครั้งของจีน และการผ่อนคลายของอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงพอที่จะพาเศรษฐกิจออกจากโซนอันตรายของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
หากพิจารณาจากกำลังซื้อที่ลดลง คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมที่เบาบางลง นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ล้วนแต่เป็นเหตุผลสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ธนาคาร Bundesbank ธนาคารกลางของเยอรมนียังคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองจะเติบโตในระดับปานกลาง เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมจะชดเชยทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนที่ซบเซาและการก่อสร้างที่ตกต่ำ