คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
“เดสทาทิส” สำนักงานสถิติแห่งสหพันธ์รัฐของเยอรมนี แถลงเมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จีดีพีของประเทศในช่วงระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ อยู่ในสภาพชะงักงัน กล่าวคือมีอัตราการขยายตัวเป็นศูนย์
ในทางเทคนิคแล้ว เท่ากับว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีเลี่ยงหนีจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างฉิวเฉียด หลังจากที่จีดีพีของประเทศหดตัวลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ติดลบ 0.4 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมา และติดลบต่อเนื่องอีก 0.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
แต่การที่เศรษฐกิจขยายตัวเป็นศูนย์นั้น ไม่เพียงต่ำกว่าประมาณการของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายอยู่ไม่น้อยแล้วเท่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่า โดยรวมแล้วในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจของเยอรมนีหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขการขยายตัวเป็นศูนย์ในไตรมาสที่ 2 อาจกลายเป็นติดลบได้อีกเช่นเดียวกัน หากมีการทบทวนปรับตัวเลขกันใหม่ในภายหลัง
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ด้วยตัวเลขดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ทั้งหลายในเขตยูโรโซน หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรด้วยกัน
เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เศรษฐกิจของประเทศอย่างฝรั่งเศส ขยายตัว 0.5% และจีดีพีของสเปนก็ขยายตัว 0.4% เช่นเดียวกัน
เศรษฐกิจของเยอรมนีย่ำแย่กว่า แม้แต่เมื่อเทียบกับประเทศอย่างอิตาลี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า ตลอดทั้งปีนี้เศรษฐกิจของอิตาลีจะขยายตัวถึง 1.1% ในขณะที่ฝรั่งเศส จีดีพีตลอดทั้งปีจะขยายตัว 0.9%
ตรงกันข้ามกับเยอรมนีที่ตลอดปีนี้ ทั้งไอเอ็มเอฟ และบุนเดสแบงก์ หรือแบงก์ชาติของประเทศประเมินตรงกันว่า เศรษฐกิจจะหดตัวลง จีดีพีทั้งปีจะติดลบ 0.3%
ที่น่าสนใจก็คือ ครั้งสุดท้ายที่จีดีพีตลอดปีของอิตาลีสูงกว่าเยอรมนีเช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2003 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ตั้งแต่วิกฤตการณ์พลังงาน ซึ่งก่อตัวขึ้นจากสงครามในยูเครน กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมภาคการผลิต ซึ่งมีปัญหาต้องต่อสู้แก้ไขอยู่ก่อนแล้ว ทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ที่ส่งผลทำให้ผลิตภาพของแรงงานแย่ลง ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงอยู่กับปัญหาเชิงประชากรในประเทศที่กำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุมากขึ้นทุกที
ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการ “ผลิตรถยนต์” ที่เคยโดดเด่นของเยอรมนี ก็ถูกคุกคามด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในตลาดรถยนต์อีวี หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก
ทั้งหมดนั้นล้วนเป็น “ความท้าทายในระยะยาว” ซึ่งเมื่อผสมผสานกับอุปสงค์จากจีนที่อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด บวกกับนโยบายการเงินที่พลิกกลับมาเข้มงวด ก็ยิ่งบีบคั้นภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีมากยิ่งขึ้นไปอีก
ที่เป็นปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่ส่อว่าเยอรมนีจะมีทางออกให้กับปัญหาระยะยาวที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้
จอร์ก เครเมอร์ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ประจำคอมเมิร์ซแบงก์ เอจี ถึงกับระบุว่า ภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีนั้นไม่ใช่เรื่องของการคาดการณ์อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่แก่ตาแล้วในเวลานี้
“เราคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกลับมาปรากฏให้เห็นใหม่อีกครั้ง” เครเมอร์ระบุ
นักเศรษฐศาสตร์บางคน อาทิ คลีเมนส์ เฟาสท์ ประธานสถาบันไอเอฟโอในนครมิวนิก ถึงกับระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเยอรมนีจะต่อเนื่องยืดเยื้อออกไป นำโดยภาวะทรุดตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดในผลการสำรวจรายเดือนล่าสุดที่ ไอเอฟโอ จัดทำขึ้น
เอสแอนด์พี โกลบอล ระบุว่า ผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing manager index) แสดงให้เห็นชัดเจนเช่นกันว่า สภาพอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีน้ำหนักมากกว่าการขยายตัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคบริการ
ในฐานะที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดของยูโรโซน สถานการณ์เศรษฐกิจในเยอรมนีกำลังกลายเป็นตัวถ่วง ฉุดให้เศรษฐกิจของทั้งยูโรโซนทรุดตัวลงตามไปด้วย
โทมัส เมเยอร์ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยฟลอสบัค ฟอน สตอร์ช ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการที่เฝ้าสังเกตการณ์ทางเศรษฐกิจมายาวนานระบุว่า การที่เศรษฐกิจของเยอรมนีตกอยู่ในสภาพคืบคลานหรือติดลบอยู่บ้าง ดูจะเป็นปัญหาระดับรองไปแล้วในเวลานี้
ปัญหาใหญ่ที่เป็นอันดับหนึ่งในเวลานี้ก็คือ เศรษฐกิจของเยอรมนีจะตกต่ำซึมยาวนานหรือไม่
เพราะในตอนนี้ก็ส่อเค้าว่าจะกลายเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” ที่แท้จริงเข้าไปทุกที