
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่เติบโตน้อยลง เพราะการส่งออกลดลง เงินเฟ้อบางเดือนเริ่มหดตัว สวนทางกับประเทศพัฒนาแล้วที่เงินเฟ้อสูง ประชากรหนุ่มสาวตกงานสูง ปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จนบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องผิดนัดชำระหนี้ ก่อให้เกิดเสียงอื้ออึงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่เกรงว่าจะทำให้จีนเกิดภาวะเงินฝืดยาวนาน อันเป็นภาวะที่ถูกเรียกว่า “ทศวรรษที่สาบสูญ” แบบที่ญี่ปุ่นเคยประสบมาแล้ว และติดหล่มอยู่ในนั้นนานกว่า 20 ปี
ในขณะที่เศรษฐกิจจีนถูกจับตาว่าจะเกิด “เงินฝืด” เดินตามรอยญี่ปุ่น แต่เวลาเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุ่นขณะนี้กลับส่งสัญญาณว่ากำลังไต่ออกมาจากทศวรรษสาบสูญนั้น จึงยิ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบและถูกกล่าวถึงมากขึ้นระหว่างสถานการณ์ของสองประเทศนี้ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นเบอร์ 2 และ 3 ของโลก
ช่วงทศวรรษ 1970-1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วแข็งแกร่ง แบบเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่เติบโตสูงในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยช่วงนั้นญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การส่งออกเติบโตสูง อัตราว่างงานต่ำ แต่ราคาสินทรัพย์พุ่งทะยาน โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 1980 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.9% แซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่เติบโตเฉลี่ย 3% แต่ในที่สุดเมื่อใคร ๆ ต่างก็มองเศรษฐกิจญี่ปุ่นในแง่บวก ก็นำไปสู่ฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสุดท้ายฟองสบู่ก็แตกในปลายทศวรรษ 1980 ทำให้ตลาดหุ้นดิ่ง 60% และในอีก 1 ทศวรรษต่อมาราคาที่ดินก็ลดฮวบ 80%
ผลก็คือทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตลอดทศวรรษ 1990 เติบโตต่ำมาก เฉลี่ยเพียงปีละ 1% น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด และนับจากนั้นประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าคนหนุ่มสาว รวมทั้งหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้น สุดท้ายนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน เกิดเงินฝืดยาวนาน ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องลดดอกเบี้ยลงมาใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ หรือบางทีก็ติดลบมานานกว่า 25 ปี
มาตอนนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากที่เคยใช้การส่งออกที่เติบโตสูง และการขยายเศรษฐกิจผ่านการปล่อยกู้ หรือสร้างหนี้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปสู่การใช้บริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ปัญหาภายในประเทศที่คุ้น ๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็ปรากฏขึ้น เช่น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ประชากรแก่ชราลง และหนี้มหาศาลที่รัฐบาลท้องถิ่นก่อขึ้น ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ทั้งในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนเองและนักลงทุนต่างประเทศ และการที่เศรษฐกิจเติบโตน้อยลงในช่วงไม่นานมานี้ทำให้เงินเฟ้อจีนเดือนกรกฎาคมลดลง 0.3% ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเงินฝืด นับจากโควิดระบาดเมื่อปี 2020
ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า การที่เงินเฟ้อจีนหดตัวเพียงเดือนเดียว ไม่ได้แสดงถึงแนวโน้มของเงินฝืดในระยะยาว อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคน เช่น ริชาร์ด คู แห่งสถาบันวิจัยโนมูระ เห็นว่าจีนนั้นกำลังอยู่ในสภาพ balance sheet recession ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อประเทศมีหนี้สูง จะทำให้บริษัทต่าง ๆ และประชาชนทั่วไปออมเงินมากขึ้น หรือไม่ก็นำเงินไปชำระหนี้ แทนที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อบริโภคหรือลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต และอาจนำไปสู่สภาวการณ์ “ทศวรรษที่สาบสูญ”
ทางด้านญี่ปุ่นนั้น เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนกรกฎาคมขยายตัว 3.1% ต่อจากเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้น 3.3% และนับเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกันที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้สำนักนายกรัฐมนตรี ของญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความหวังในการหลุดพ้นจากเงินฝืด โดยระบุว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นสัญญาณ “สิ้นสุด” ยุคของเงินฝืดและการเติบโตที่ซึมเซาของเศรษฐกิจ
“เงินเฟ้อและค่าจ้างของญี่ปุ่นสูงขึ้นเป็นวงกว้าง นับจากฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของเรากำลังถึงจุดเปลี่ยนในรอบ 25 ปีในการต่อสู้กับเงินฝืด หน้าต่างแห่งโอกาสของการหลุดพ้นจากเงินฝืดอาจกำลังเปิดออก” สำนักนายกรัฐมนตรีระบุ อย่างไรก็ตาม น้ำเสียงของรัฐบาลเป็นไปอย่างระมัดระวัง ยังไม่ประกาศชัยชนะจนกว่าจะแน่ใจแล้วจริง ๆ
ความหวังเรืองรองในตลาดญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนระดับตำนาน อย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” แห่งเบิร์กเชียร์ แฮตธาเวย์ ของสหรัฐอเมริกา นำทัพเข้าไปลงทุนแล้วในญี่ปุ่น โดยเข้าถือหุ้นมากกว่า 8% ในบริษัทยักษ์ใหญ่ 5 อันดับแรกของญี่ปุ่น ได้แก่ อิโตชู, มิตซูบิชิ, มิตซุย, ซูมิโตโม และมารูเบนิ