ต่างชาติเทขายหุ้นจีนหนักสุดในรอบ 9 ปี เหตุกระตุ้นเศรษฐกิจไม่พอ กังวลวิกฤตลุกลาม

หุ้นจีน
กระดานหุ้น ตลาดหุ้นเซินเจิ้น แฟ้มภาพ ตุลาคม 2009 (ภาพโดย Bobby Yip/ REUTERS)

นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นจีนพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้ ท่ามกลางความกังวลกับการที่รัฐบาลจีนไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม และความกังวลว่าวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์จะลามไปยังภาคการเงิน 

วันที่ 30 สิงหาคม 2023 สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ซึ่งยังเหลือวันทำการอีก 1 วัน นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นจีนสูงเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จะลุกลามไปยังภาคการเงิน 

โดยภาพรวมทั้งเดือนสิงหาคมนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น A-Share ของจีนรวมเป็นมูลค่า 71,600 ล้านหยวน (ประมาณ 349,000 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 30 สิงหาคม 2023) ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อการซื้อหุ้นระหว่างตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่กับตลาดหุ้นฮ่องกง ซึ่งเป็นมูลค่าการขายสูงสุดในเดือนเดียว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2014 หรือในรอบเกือบ 9 ปี

ด้านนักลงทุนสถาบันจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีเงินในกระเป๋ามากได้ประกาศแผนการซื้อหุ้นจีน แต่ไม่ได้สร้างแรงหนุนต่อตลาดมากเท่าที่ผู้สังเกตการณ์ในตลาดบางคนคาดหวัง 

แม้ว่านักลงทุนต่างชาติถือหุ้น A-share น้อยกว่า 10% ของมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) แต่ก็มีอิทธิพลสำคัญต่อเพอร์ฟอร์แมนซ์ของตลาดหุ้นได้ เนื่องจากพวกเขามักจะซื้อหุ้นที่มีน้ำหนักสูงสุดใน CSI 300 ซึ่งนับจากปิดตลาดวันที่ 31 กรกฎาคมถึงตอนนี้ ดัชนี CSI 300 ลดลงแล้ว 7.2%   

นักเศรษฐศาสตร์จากต่างประเทศจำนวนมากกล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศกังวลกับการขาดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประชุมโปลิตบูโร (หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ให้คำตอบที่นักลงทุนคาดหวัง 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจีนเพิ่งปรับลดอากรแสตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้นจาก 0.1% สู่ 0.05% เพื่อกระตุ้นการลงทุนในหุ้นจีน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2023 แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานความคิดเห็นของ มาร์วิน เฉิน (Marvin Chen) นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ว่า การลดอากรแสตมป์แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาด และจีนจำเป็นต้องมีการสนับสนุนเชิงนโยบายเพิ่มเติม  

ด้านเนียว หวัง (Neo Wang) กรรมการผู้จัดการฝ่ายการวิจัยตลาดจีนของ Evercore ISI บริษัทที่ปรึกษาวาณิชธนกิจจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า การพลิกฟื้นกลับของตลาดหุ้น A-share จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่ารัฐบาลจีนจะใช้มาตรการ “บาซูก้า” (การกระตุ้นขนานใหญ่) มากกว่านี้ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนเมื่อปี 2008