ทำไมจีนยังลังเล ไม่ยอมกระตุ้นเศรษฐกิจ ?

อสังหาฯจีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในเวลานี้คนโดยทั่วไปรู้ดีว่าเศรษฐกิจจีนกำลังมีปัญหา มีปัญหาตั้งแต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปัญหาการส่งออก ราคาทรัพย์สินร่วงลงวูบวาบ แถมคนในวัยหนุ่มสาวมากถึงกว่า 1 ใน 5 คนกลายเป็นคนว่างงาน

ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังเลวร้ายลง “คันทรี่ การ์เด้น โฮลดิงส์” บริษัทลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับหัวแถวของประเทศ เจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 3,000 แห่งในทุกทิศทุกทางของจีน ยอมรับสภาพว่าจวนเจียนจะล้มละลายอยู่รอมร่อ

จงจื่อ เอนเตอร์ไพรส์ กรุ๊ป หนึ่งใน “แชโดวส์ แบงก์” ใหญ่ที่สุดของประเทศประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ขณะที่ผู้ประท้วงรวมตัวกันหน้าที่ทำการเพื่อเรียกร้องเงินของตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเตือนว่า จีนกำลังสุ่มเสี่ยงจะตกลึกลงสู่ภาวะเงินฝืด ที่จะทำให้เศรษฐกิจชะงักงันยืดเยื้อ ในสภาพเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยพานพบเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

คำถามที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ทางการจีนไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลยหรือ ถ้าล่วงรู้แล้วทำไมไม่หาหนทางแก้ไขก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ?

Advertisment

คำตอบก็คือ รัฐบาลจีน รวมทั้งตัว “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดี กับมือเศรษฐกิจชั้นดีของทางการอย่างเช่น นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง และรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ล้วนตระหนักดีว่า สภาพดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงอย่างไร

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของจีนเองก็ตระหนักดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน บางคน รวมทั้ง “ไค เฟิง” ที่ปรึกษาธนาคารประชาชนจีน (แบงก์ชาติจีน) ออกมาเรียกร้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคภายในประเทศ นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่า ด้วยงบประมาณ (จากการกู้ยืมของรัฐ) เพียง 2-3 ล้านล้านหยวน (ราว 4-6 แสนล้านดอลลาร์) จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศที่จะเป็นการแก้ปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลปักกิ่งไม่ได้อยู่เฉยก็จริง แต่บรรดามาตรการที่กำหนดออกมาเท่าที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงเล็กน้อยเกินไป ยังไม่ใช่การกระตุ้นที่ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับอุปมามาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของทางการจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาทิ มาตรการที่ประกาศหลังการประชุมคณะโปลิตบูโรเมื่อเดือนที่ผ่านมา อย่างการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสาธารณูปการ, การเสริมสภาพคล่องให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เรื่อยไปจนถึงการลดข้อจำกัดในการซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ เรื่อยไปจนถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เปรียบได้เสมือนกับการให้ “น้ำเกลือ” แก่คนป่วยที่กำลังต้องการ “ยาแรง” เท่านั้นเอง

Advertisment

นั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่ชวนให้คิดอย่างมากว่า ไม่ใช่ทางการจีนจะไม่ล่วงรู้ถึงปัญหา แต่ยังยืนกรานที่จะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงด้วยเม็ดเงินมหาศาล เพียงเพราะกำลังเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตน ไปในทิศทางที่อย่างน้อย สี จิ้นผิง ต้องการ

พอกันทีกับการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการก่อหนี้ สี จิ้นผิง ต้องการให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ด้วยภาคอุตสาหกรรมไฮเทคและอุตสาหกรรม “สีเขียว” ที่แข็งแกร่ง

ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ก็คือ ขณะที่การส่งออกกำลังหดตัวอสังหาริมทรัพย์เลวร้ายหนัก อีกบางอุตสาหกรรมของจีนกำลังบูมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นคืออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมพลังงานลม และโซลาร์เซลล์

นักสังเกตการณ์ชี้ว่า ในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ อัตราการขยายตัวของการลงทุนและการส่งออกเพิ่มขึ้นในระดับตัวเลข 2 หลัก แถมยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ ทั้งเพื่อ “บ่มเพาะ” และกระตุ้นให้ “ขยายตัว”, รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงและโครงสร้างด้านพลังงานสะอาดแบบขนานใหญ่ ในขอบเขตที่ไม่เคยมีรัฐบาลประเทศไหนเคยทำมาก่อน, มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจในแวดวงนี้ กระทั่งยังสนับสนุนฝ่ายผู้บริโภคโดยการยกเว้นภาษีด้วยอีกต่างหาก

ปัญหาก็คือ การขยายตัวของสิ่งที่ทางการจีนเรียกว่า “เศรษฐกิจใหม่” นี้ ไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงฉุดรั้งที่เกิดจากการทรุดตัวของอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้

ภาคการผลิต “สีเขียว” เมื่อรวมกับอุตสาหกรรมไฮเทคอื่น ๆ ขยายตัว 6.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 17% เศษของจีดีพีทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันการใช้จ่ายในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเกือบ 8% โดยที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20% ของจีดีพี

ยอดขายอสังหาริมทรัพย์จีนลดลงมากถึงราว 50% เมื่อเทียบกับระดับในตอนพีกสุดเมื่อปี 2020 มูลค่าของเคหสถานลดลงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะอสังหาริมทรัพย์คือ 70% ของความมั่งคั่งของครัวเรือน
จีน และถูกใช้เพื่อค้ำประกันเงินกู้สูงถึง 40% ของยอดเงินกู้ทั้งหมดในประเทศ

ปัญหาของทางการจีนจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของความไม่รู้ หรือไม่ลงมือแก้ปัญหา แต่เป็นเรื่องของการเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงและลังเลที่จะใช้วิธีการและรูปแบบเดิม ๆ ในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว

จนกว่ารัฐบาลจีนจะถูก “ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ” บีบบังคับให้เปลี่ยนใจเท่านั้นเอง