ไม่มีข่าวดี ! สรุป 7 ปัจจัยลบรุมเร้าเศรษฐกิจจีน จากข้อมูลที่เผยในสัปดาห์เดียว

จีน ตลาดแรงงาน
ตลาดแรงงานในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (Photo by Pedro PARDO / AFP)

ยังไม่มีข่าวดีในแดนมังกร ซ้ำยังมีข่าวร้ายเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ! 

จากการคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีว่าจีนจะเป็นความหวังเศรษฐกิจโลก ตอนนี้จีนกลับกลายเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงไปเสียแล้ว 

นับตั้งแต่เข้าไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนแทบจะไม่มีข่าวดี และยิ่งหนักหนารุนแรงขึ้นเมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 

เฉพาะในช่วงสัปดาห์ล่าสุด เศรษฐกิจจีนเจอข่าวร้ายไปแล้วเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 เรื่อง 

ซึ่งจากหลายปัจจัยลบที่รุมเร้าเศรษฐกิจจีน นำไปสู่การที่ธนาคารรายใหญ่ระดับโลกหลายรายได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา 

Advertisment

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุป 7 ข่าวร้าย-ปัจจัยลบที่รุมเร้าเศรษฐกิจจีน จากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาภายในเวลาประมาณสัปดาห์เดียว ระหว่างวันที่ 8-15 สิงหาคม 2023

ส่งออกเดือนกรกฎาคมต่ำสุดในรอบ 3 ปีกว่า ซึมทั่วทุกตลาด

การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม 2023 ลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นการตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนในปีนี้ 

ตามข้อมูลที่หน่วยงานศุลกากรของประเทศจีนเผยแพร่ในวันที่ 8 สิงหาคม 2023 การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม 2023 มีมูลค่า 281,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.85 ล้านล้านบาท) ลดลง 14.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดลงต่อเนื่องในอัตราที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งลดลง 12.4% (YOY) 

ส่วนฝั่งการนำเข้ามีมูลค่า 201,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.03 ล้านล้านบาท) ลดลง 12.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนที่ลดลง 6.8% (YOY) ส่งผลให้จีนได้ดุลการค้า 80,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท) 

Advertisment

การส่งออกของจีนหดตัวลงในทุกตลาดหลัก การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 20.62% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง 23.12% (YOY) นับเป็นหดตัวติดต่อกัน 12 เดือนแล้ว 

แม้แต่การส่งออกมายังอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่หนุนการส่งออกของจีนเมื่อช่วงต้นปีก็หดตัวลง 21.43% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนซึ่งลดลงเป็นเดือนแรกในปีนี้ 

จีน ส่งออก
ท่าเรือเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน วันที่ 19 กรกฎาคม 2023 (Photo by AFP) / China OUT

เงินฝืด การอุปโภค-บริโภคต่ำ ยอดค้าปลีกแย่ 

เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคม 2023 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองปี เป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนขึ้นว่าอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ 

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยในวันที่ 9 สิงหาคม 2023 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมลดลง 0.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ค่าอาหาร ค่าขนส่ง และค่าของใช้ในครัวเรือนลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมูลดลง 26% และราคาผักลดลง 1.5% 

ออร์เดอร์จากต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง บวกกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หรือราคาที่โรงงานขายให้ผู้ค้าส่งลดลง 4.4% (YOY) เป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 10 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีผู้ผลิต (PPI) ลดลงในเดือนเดียวกัน

สัญญาณภาวะเงินฝืดของจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน (stagnation) แล้วซบเซาเป็นเวลานาน และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้เตือนให้จีนรีบแก้ปัญหานี้ก่อนจะสายเกินไป 

ซ้ำเติมด้วยข้อมูลอีกชุดที่สัมพันธ์กันที่ทางการเปิดเผยออกมาในวันที่ 15 สิงหาคม คือ ยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% (YOY) น้อยกว่าที่ Wind บริษัทให้บริการข้อมูลทางการรายใหญ่ในจีนคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% (YOY) และชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนมิถุนายน เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) โดยหักผลกระทบของฤดูกาลออกแล้วได้ข้อสรุปว่า ยอดค้าปลีกของจีนซบเซาลง

โรเบิร์ต คาร์เนลล์ (Robert Carnell) หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ING วิเคราะห์ว่า บางทีสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจจะเป็นการเติบโตของยอดค้าปลีกที่โตขึ้น 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพราะตัวเลขนี้ลดลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตในเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการเปิดประเทศอีกครั้งทำให้ยอดค้าปลีกในตอนนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

เศรษฐกิจจีน

Country Garden บริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่เสี่ยงซ้ำรอย Evergrande 

คันทรี่ การ์เดน (Country Garden) บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนเปิดเผยในวันที่ 8 สิงหาคม 2023 ว่า บริษัทผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้รวมมูลค่า 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 795 ล้านบาท) ที่ครบกำหนดชำระในวันที่ 6 สิงหาคม 2023 บ่งชี้แนวโน้มว่าอาจจะเป็นยักษ์ใหญ่อีกรายที่ผิดนัดชำระหนี้

ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคม คันทรี่ การ์เดน ซึ่งมีหนี้สินรวมประมาณ 1.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.85 ล้านล้านบาท) ณ สิ้นปี 2022 แจ้งเตือนนักลงทุนว่าบริษัทอาจจะขาดทุน 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในครึ่งปีแรก และขออภัยต่อนักลงทุนสำหรับการที่บริษัทประเมินสภาพตลาดผิดพลาด

ความยากลำบากทางการเงินของคันทรี่ การ์เดน ซึ่งเคยถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานะการเงินมั่นคงมากได้สร้างความกังวลว่าอาจจะเพิ่มแรงบีบคั้นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งยอดขายลดลง สภาพคล่องตึงตัว และมีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 

นักวิเคราะห์จาก Capital Economics มองว่า ปัญหาทางการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง คันทรี่ การ์เดน น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยในระยะสั้น จึงมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่เศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เว้นแต่จะมีการออกนโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ 

ตลาดอสังหาฯซึมยาว ยอดขาย-ราคาร่วง การลงทุนภาคอสังหาฯหด 

แม้จะไม่นับกรณีคันทรี่ การ์เดน บรรยากาศในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ดีอยู่แล้ว ดีมานด์หดตัว ตลาดซึมต่อเนื่อง

อีกข้อมูลใหม่ที่เปิดในวันที่ 15 สิงหาคม คือ ยอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงส่งผลให้ราคาขายบ้านใหม่ในเดือนกรกฎาคมร่วงลงต่ำลงเป็นครั้งแรกของปี โดยลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่จะต้องมีการสนับสนุนทางนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อหนุนเสริมดีมานด์ในตลาด   

แม้ว่าในหลายเมืองเริ่มมีการผ่อนปรนข้อจำกัดในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นตลาด แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ยอดขายบ้านและราคาบ้านจะลดลงต่อไปอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เนื่องจากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจเผชิญกับแรงกดดันที่ทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอ

ตลาดที่ซึมกดดันให้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง 8.5% หลังจากที่ในช่วง 6 เดือนแรกลดลง 7.9%   

ทั้งนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 14% ซึ่งภาวะซึมเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างมาก

อสังหาจีน
แรงงานก่อสร้างในภาคอสังหาจีน (Photo by Jade Gao / AFP)

FDI ไตรมาส 2 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในไตรมาส 2 ปี 2023 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สาเหตุหลักมาจากสงครามเทคระหว่างสหรัฐกับจีน และความไม่มั่นใจของต่างชาติว่าจีนจะเปิดรับโลกภายนอกไปอีกนานแค่ไหน บวกกับการส่งเสริมแนวคิด “friend-shoring” ของสหรัฐ ซึ่งจะสร้างห่วงโซ่อุปทานกับประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เป็นมิตรเท่านั้น เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนของต่างชาติในจีน

ตามการเปิดเผยของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange of China) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2023 การลงทุนโดยตรงของบริษัทต่างชาติในจีนในไตรมาส 2 ของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 87% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 1998 หรือ 25 ปีที่แล้ว

ธนาคารเงาไม่จ่ายผลตอบแทนลูกค้า หวั่นลามทั่วอุตสาหกรรม 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2023 มีการรายงานข่าว จงจื่อ เอนเตอร์ไพรส์ (Zhongzhi Enterprise Group Co.) บริษัทบริหารจัดการกองทรัสต์ หรือ “ธนาคารเงา” (Shadow Banking) รายใหญ่ในอุตสาหกรรมทรัสต์ที่มีเงินลงทุนภายใต้การจัดการประมาณ 1 ล้านล้านหยวน (1.38 แสนล้านดอลลาร์) ไม่จ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงหลายรายการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกค้าประมาณ 150,000 ราย มูลค่าเงินลงทุน 230,000 ล้านหยวน

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่ฝั่ง จงหรง อินเตอร์เนชั่นแนล ทรัสต์ (Zhongrong International Trust) ซึ่งเป็นบริษัทที่จงจื่อถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ก็ยังไม่จ่ายผลตอบแทนลูกค้าจำนวนมาก

ปัญหาของจงจื่อและจงหรงได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของอุตสาหกรรมทรัสต์หรือธนาคารเงาที่มีมูลค่ารวมประมาณ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญช่วงเวลายากลำบากอยู่ในวิตอนนี้ เนื่องจากกองทรัสต์มักจะนำเงินไปลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อบริษัทอสังหาไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนหรือชำระหนี้ได้ ก็จะส่งผลให้ทรัสต์ไม่สามารถให้ผลตอบแทนกับลูกค้าได้

ส่วนฝั่งนักลงทุนที่ลงทุนในทรัสต์นั้นมีทั้งนักลงทุนรายบุคคลและบริษัท หากบริษัทที่นำเงินไปลงทุนในทรัสต์แล้วไม่ได้รับผลตอบแทนหรือเงินลงทุนคืนก็จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทและส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทไปเป็นทอด ๆ

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากบริษัทให้บริการข้อมูล Use Trust ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึง 31 กรกฎาคม 2023 มีผลิตภัณฑ์ทรัสต์ทั้งหมด 106 รายการ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านหยวนที่ผิดนัดจ่ายผลตอบแทนให้ลูกค้า ซึ่ง 74% ในจำนวนที่ผิดนัดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และนักวิเคราะห์บางรายวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะเห็นบริษัททรัสต์ผิดนัดจ่ายผลตอบแทนมากขึ้น

อัตราว่างงานสูงขึ้น 

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2023 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ อัตราการว่างงาน ซึ่งอัตราการว่างงานโดยรวมของจีนในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% จาก 5.2% ในเดือนมิถุนายน 

ที่ถูกโฟกัสมากยิ่งกว่าอัตราการว่างงานรวมที่เพิ่มขึ้น ก็คือ รัฐบาลจีนระงับการเผยแพร่ข้อมูลอัตราการว่างงานของเยาวชนคนหนุ่มสาว (อายุ 16-24 ปี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพิ่งเรียนจบแล้วหางานแรกทำ 

เยาวชนจีนว่างงาน
เยาวชนจีนแห่ขอพรให้ได้งาน (ภาพโดย Tingshu Wang/ REUTERS)

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนอ้างเหตุผลว่า วิธีการคำนวณการว่างงานของเยาวชนจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

แต่สังคมและนักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลจีนต้องการปกปิดตัวเลขที่สูงจนน่ากลัว หลังจากที่อัตราการว่างงานของเยาวชนจีนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายนอัตราว่างงานของคนอายุ 16-24 ปี สูงถึง 20.4%, 20.8% และ 21.3% ตามลำดับ

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง