ภาวะอัสดง “โรงงานโลก” กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ “จีน”

โรงงานโลก
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลายปัญหาที่ประดังกันเข้ามาของจีน ทั้งสงครามการค้ากับสหรัฐที่ขยายวงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด ที่ส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์จากปัญหารัสเซีย-ยูเครน ทำให้ในระยะไม่กี่ปีมานี้่ไม่ค่อยมีข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นดาวเด่นเจิดจรัสของโลก

ตัวเลขการส่งออกของจีนเดือนกรกฎาคม 2023 ลดลง 14.5% มากที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2020 อันเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาด และนับว่าลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ส่วนการนำเข้าก็ลดลง 12.4% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 การส่งออกได้น้อยลงสะท้อนว่าความต้องการทั่วโลกอ่อนแอ โดยเฉพาะในซีกตะวันตกที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง

บรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า การส่งออกและนำเข้าของจีนมีท่าทีจะลดลงอีก เพราะว่าความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้นขึ้น รวมทั้งรัฐบาลจีนภายใต้ “สี จิ้นผิง” ที่เป็นเผด็จการมากขึ้น ผลักไสให้บริษัทและนักลงทุนย้ายออกจากจีน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยามที่เศรษฐกิจภายในของจีนทรุดลงอยู่แล้ว

สตีฟ ชาง ผู้อำนวยการสถาบัน SOAS จีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางผู้เชี่ยวชาญจีนในลอนดอน ให้สัมภาษณ์เดอะ เทเลกราฟ ว่าปัญหาคือ สี จิ้นผิง ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ จีนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “โรงงานของโลก” ตอนนี้อยู่ในภาวะถดถอย การส่งออกไปสหรัฐเดือนกรกฎาคมลดลง 23.1% เช่นเดียวกับการส่งออกไปไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปก็ลดลงในระดับเลขสองหลักเช่นกัน

ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ไปยังจีนไตรมาส 2 ปีนี้ก็ลดลงถึง 87% ไปอยู่ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์ ต่ำที่สุดนับจากปี 1998 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกล่วงหน้าถึงการค้าในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่เปิดธุรกิจในจีนมีสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกจีน และตอนนี้กำลังค่อย ๆ ย้ายธุรกิจไปประเทศอื่น

ชางระบุว่า บริษัทต่างชาติในจีนเริ่มมองเห็นว่าพวกเขาจะถูกจำกัดควบคุมในทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นเคยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นบริษัทต่างชาติจะต้องยอมให้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท

และตอนนี้ สี จิ้นผิง ควบคุมบริษัทต่างชาติมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้เลขาธิการพรรคมีบทบาทหน้าที่ในบริษัทต่างชาติมากขึ้น แทนที่จะลดลง ในเวลาเดียวกัน บริษัทต่างชาติพบว่านโยบายสุดโต่งแบบเผด็จการเกี่ยวกับการควบคุมโควิดมีการพลิกไปพลิกมา สร้างความไม่แน่นอนให้กับการลงทุนในจีน

“บริษัทต่างชาติไม่สนใจว่านักการเมืองพูดอะไร แต่สนใจเกี่ยวกับการรักษาห่วงโซ่อุปทาน ห่วงชื่อเสียง และธุรกิจของพวกเขา และจีนทำให้การลงทุนของพวกเขาเสี่ยงมากขึ้น เมื่อ 3-5 ปีที่แล้วบริษัทตะวันตกมองว่าการลงทุนในจีนเป็นเดิมพันที่ไม่มีความเสี่ยง หากใครไม่ลงทุนในจีนก็จะถูกทุกคนถามว่าทำไม แต่ตอนนี้หากใครยังลงทุนในจีนก็อาจจะต้องอธิบายว่าทำไมยังวางแผนจะขยายธุรกิจในจีนอยู่อีก”

บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ในจีนกำลังพยายามสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทาน เช่นบริษัทแอปเปิลจะย้ายการผลิตบางส่วนไปที่อื่น บริษัทซีเมนส์กำลังมองหาโรงงานใหม่ในอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การควบคุมการค้า ควบคุมการส่งออก เอฟดีไอจากต่างชาติที่ลดลง จะทำให้สถานะการเป็นโรงงานของโลกของจีนอ่อนแอลงทีละน้อย เอฟดีไอที่ลดลงจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะการลงทุนจากต่างชาติมีความสำคัญมากที่จะทำให้จีนได้รับเทคโนโลยี

เมื่อบริษัทต่างชาติไปตั้งโรงงานที่จีน คนจีนก็สามารถลอกแบบได้ นั่นเป็นรูปแบบที่จีนได้รับเทคโนโลยีมาโดยตลอด เมื่อเอฟดีไอลดลงก็หมายถึงนวัตกรรมลดลง

นอกจากนี้ ความสามารถแข่งขันด้านการเป็นแหล่งผลิตของจีนก็กำลังลดลง เนื่องจากมีต้นทุนแพงกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนวัยแรงงานเริ่มลดน้อยลง ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านโครงสร้างประชากรที่ไม่ปกติสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายลูกคนเดียว การกำลังสูญเสียสถานะโรงงานของโลกด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้