จีนส่งออกกรกฎาคม 2023 หดตัวหนักสุดในรอบ 3 ปี ซึมทุกตลาด สหรัฐ-ยุโรป-อาเซียน 

จีน ส่งออก
ท่าเรือเหลียนหยุนกัง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน วันที่ 19 กรกฎาคม 2023 (Photo by AFP) / China OUT

การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม 2023 ลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นการตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนในปีนี้ รวมถึงการส่งออกมายังอาเซียนที่เคยขยายตัวในช่วงต้นปีแรกก็ลดลงถึง 21.43% 

วันที่ 8 สิงหาคม 2023 หน่วยงานศุลกากร ประเทศจีน รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งข้อมูลชี้ว่า การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม 2023 ลดลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นการตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนในปีนี้

สำนักข่าวเซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (South China Morning Post) รายงานว่า การส่งออกของจีนมีมูลค่า 281,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.85 ล้านล้านบาท) ลดลง 14.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดลงต่อเนื่องในอัตราที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งลดลง 12.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) 

ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคม ลดลงมากกว่าคาดการณ์ที่วินด์ (Wind) บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินชั้นนำของจีนคาดไว้ว่าจะลดลง 4.8% 

ขณะเดียวกัน ฝั่งการนำเข้าลดลง 12.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) มูลค่า 201,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.03 ล้านล้านบาท) ต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนที่ลดลง 6.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และลดลงมากกว่าที่วินด์คาดการณ์ไว้ว่าจะลด 11.4%  

จีนเกินดุลการค้า 80,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท) ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่เกินดุล 70,620 ล้านดอลลาร์ 

การส่งออกไปยังอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของจีน และเป็นหนึ่งในตลาดที่สนับสนุนการส่งออกของจีนเมื่อช่วงต้นปีลดลง 21.43% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนซึ่งลดลงเป็นเดือนแรกในปีนี้ 

การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 20.62% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง 23.12% เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 แล้ว 

นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด แต่การลดลงล่าสุดส่วนใหญ่สะท้อนถึงราคาที่ลดลงมากกว่าปริมาณ ซึ่งปริมาณการส่งออกยังคงสูงกว่าแนวโน้มก่อนเกิดโรคระบาด 

“เราไม่มั่นใจว่าความแข็งแกร่งนี้จะคงอยู่นาน จากหลักฐานที่มีมากขึ้นว่าอุปสงค์สินค้าทั่วโลกกำลังลดลง เนื่องจากการบิดเบือนตลาดของโรคระบาดคลี่คลายลง และการเข้มงวดทางการเงินส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค” 

“อุปสงค์ในประเทศก็อ่อนตัวลงเช่นกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยปริมาณการนำเข้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีในเดือนกรกฎาคม แต่การสนับสนุนด้านนโยบายน่าจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”