พาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนคนใหม่ จะพาเศรษฐกิจจีนฟื้นได้หรือไม่ ?

พาน กงเซิ่ง

พาน กงเซิ่ง” (Pan Gongsheng) วัย 60 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธนาคารกลางของประเทศจีน (PBOC) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2023 แทน ยี่ กัง (Yi Gang) ที่เกษียณอายุ

ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่รับตำแหน่งในห้วงที่เศรษฐกิจจีนเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งการเติบโตที่ชะลอตัว วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้รัฐบาลท้องถิ่น และอัตราการว่างงานของเยาวชนสูงเป็นประวัติการณ์

โลกจับตามองพร้อมคำถามว่าผู้กำกับนโยบายการเงินคนใหม่จะนำพาเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นและเติบโตได้หรือไม่ ?

การแต่งตั้ง พาน กงเซิ่ง ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนผู้นำทางเศรษฐกิจตำแหน่งอื่น ๆ ที่จะตามมา

นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า การมอบตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางให้ “พาน กงเซิ่ง” ซึ่งไม่ใช่คนใกล้ชิดของ “สี จิ้นผิง” (Xi Jinping) เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจีนยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์และมีผลงานในการจัดการวิกฤต เพื่อนำพาประเทศผ่านพ้นปัญหา

พรรคคอมมิวนิสต์จีนปรับตำแหน่งสำคัญในพรรคเมื่อเดือน ต.ค. 2022 ในตอนนั้น “พาน กงเซิ่ง” ไม่ใช่คนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการ PBOC ต่อจาก ยี่ กัง

“แอนดี้ เฉิน” (Andy Chen) นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยเศรษฐกิจ “ทริเวียม ไชน่า” (Trivium China) วิเคราะห์ว่า รัฐบาลจีนดูเหมือนจะตระหนักได้แล้วว่าไม่มีเทคโนแครตด้านการเงินที่ผ่านการฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์มาอย่างดีให้เลือกใช้มากนัก ซึ่งพาน กงเซิ่ง คือคนที่มีคุณสมบัตินี้

เฉินบอกว่า “พาน กงเซิ่ง” เป็นที่รู้จักในฐานะเทคโนแครตที่มีความสามารถ ตรงไปตรงมา เป็นคนที่ไม่ลังเลที่จะผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายให้ขึ้นไปอยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดของเครื่องมือกำหนดนโยบายของจีนในช่วงวิกฤต

“พาน กงเซิ่ง” จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีนในปี 1993 และศึกษาที่ John F. Kennedy School of Government แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านนโยบายสาธารณะ

เขาได้รับการกล่าวถึงว่า “มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเงิน” สร้างชื่อจากความสำเร็จในการช่วยปรับโครงสร้างธนาคาร ICBC ในปี 2009 และเคยบริหารธนาคารของรัฐถึง 4 ธนาคาร

เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าการ PBOC ในปี 2012 จากนั้นได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีนในปี 2016 และเขาได้รับเครดิตจากการช่วยจัดการวิกฤตค่าเงินในปีเดียวกันนั้น

การทำงานในธนาคารกลางก่อนหน้านี้ เขาได้ออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และเตือนถึงปัญหาฟองสบู่อสังหาฯที่ใกล้จะเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาก็ได้เกิดขึ้นจริงและยังทำร้ายเศรษฐกิจจีนอยู่ในขณะนี้

“แดน หวัง” (Dan Wang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฮั่งเส็ง (ประเทศจีน) บอกว่า พาน กงเซิ่ง ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจำกัดความเสี่ยงทางการเงิน ดังนั้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างไม่ต้องสงสัย โดยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงเป็นกุญแจสำคัญ จะได้เห็นนโยบายการเงินแบบขยายตัวมากขึ้น แต่จะไม่ agressive มากนัก

ด้วยประสบการณ์กว่าทศวรรษในระดับแถวหน้าของวงการการเงิน ทำให้นักวิเคราะห์ตั้งความหวังว่า พานจะช่วยจัดการปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้

ถึงแม้ว่า พาน กงเซิ่ง จะมีประสบการณ์และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม แต่เมื่อเทียบกับผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ อำนาจของผู้ว่าการ PBOC นั้นมีจำกัด เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปัญหาเศรษฐกิจจีนในตอนนี้ก็ไม่ใช่น้อย ๆ

จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเขาจะพาเศรษฐกิจจีนพ้นมรสุมได้หรือไม่