วิกฤตอสังหาฯ จีน หวั่นล้มละลายเพิ่ม ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

จีนเผชิญมรสุมไม่จบสิ้น ล่าสุดเกิดวิกฤตอสังหาฯ “เอเวอร์แกรนด์” ยื่นล้มละลายกลายเป็นข่าวใหญ่ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน พูดคุยกับ “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด 

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก เอเวอร์แกรนด์ อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนประกาศยื่นล้มละลายกลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นนี้กระทบเศรษฐกิจจีนแค่ไหน รวมถึงความเชื่อมั่นของการลงทุนในช่วงที่มีปัญหาหลายด้านแบบนี้ นักลงทุนควรรับมืออย่างไร

หาคำตอบพร้อมกันในคลิปนี้กับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

Q : ทำไมเอเวอร์แกรนด์ถึงเดินทางมาถึงจุดที่ต้องยื่นล้มละลาย ?

ต้องบอกว่าเอเวอร์แกรนด์จริง ๆ อาจจะพูดว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะไม่ได้ถูกต้องแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเขาทำธุรกิจหลายอย่างต้องย้อนกลับไปหลายปีพอสมควรที่จะเห็นภาพเอเวอร์แกรนด์ที่เป็นเอเวอร์แกรนด์จริง ๆ  ธุรกิจที่เขามีจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจจีนแทบทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ทางการจีนมีออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นมุมไหนทำรถอีวี ทำเทคโนโลยี สินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวมไปถึงการขยายเขตเมืองในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ตลาดมีการปรับฐานลงไปช่วงหนึ่งแล้ว แต่ว่าบ้างจุดก็ยังมีปัญหาอยู่อย่างเช่นในกลุ่มที่เป็นหนี้ต่างประเทศหรือว่าหนี้ที่ต้องใช้ในสกุลเงินหรือว่าการลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศตอนนี้ก็เริ่มที่จะขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน นั้นก็คือเหตุผลว่าทำไม ณ ปัจจุบันทำไมเอเวอร์แกรนด์ถึงยื่นล้มละลาย

Advertisment

Q : จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นล้มละลายตามไหม ?

มองว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้แน่นอนเพราะว่าในฝั่งของอสังหาริมทรัพย์เราจะเริ่มเห็นการล้มหายตายจากของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในฝั่งของจีนเพิ่มมากขึ้น และถ้านโยบานส่วนใหญ่เขาไม่ได้กลับมาสนับสนุนสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คงจะเป็นการยื่นล้มละลายของบริษัทอื่น ๆ  แต่ว่าเราเชื่อว่าขนาดจะค่อย ๆ เล็กลงเรื่อย  ๆ แล้วก็ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐที่ค่อยถือหุ้นตัวนั้น ฉะนั้นเราคิดว่าไม่น่าห่วงเท่าไหร่

Q : สถานการณ์ที่เกิดแบบนี้มันจะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนแค่ไหน รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนไหม ?

ต้องมอง 2 มุม ในมุมของเศรษฐกิจต้องบอกก่อนเลยว่าผลกระทบไม่ได้สูงมากอย่างที่หลายคนกังวล อาจจะบอกว่าธุรกิจที่เป็นอสังหาริมทรัพย์อาจจะมีสัดส่วนที่ใหญ่ถ้าเทียบกับ GDP อาจจะบอกว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์สักประมาณ 15-20% ของ GDP ก็สามารถพูดได้ เพียงแต่ว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจนี้มักจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐหรือว่าเป็นบริษัทที่มีภาครัฐถือหุ้นรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะรวมกันไปแล้วประมาณ 60-70% ซึ่งไม่ใช่ภาคเอกชน พวกนี้ตอนนี้ไม่ได้มีปัญหา ในฝั่งของเอเวอร์แกรนด์ และคันทรี การ์เดน ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นของภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ถ้ามีปัญหาขึ้นมาเราคิดว่าจริง ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบใหญ่มากกับในฝั่งของเศรษฐกิจขนาดนั้น ก็ต้องเรียนตามตรงภาพของเอเวอร์แกรนด์ หรือภาพของคันทรี การ์เดนที่มีปัญหา และก็ความเสี่ยงในเชิงของอสังหาริมทรัพย์มันกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนใน 2 มุม

มุมแรกเลยก็คือนักลงทุนในจีนมักจะมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง อาจจะบอกว่าประมาณ 60% ของพอร์ตโฟลิโอของคนธรรมดาคือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเริ่มเห็นอสังหาริมทรัพย์ไม่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเริ่มรู้สึกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลง อันนี้ก็จะทำให้บรรยากาศ (Sentiment) ในการลงทุนมันเสียหายไปด้วย คนธรรมดาก็จะหยุดการลงทุนในทันที อย่างที่บอกนะครับว่าเมื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นพอร์ตที่ค่อนข้างใหญ่ของคนธรรมดาการลงทุนมันก็จะหายไปขยักหนึ่ง

อย่างที่ 2 ก็คือเรื่องความเชื่อมั่นในฝั่งของตลาดหุ้นพอหุ้นปรับตัวลงมาเยอะ ๆ มันก็อาจจะบอกว่าเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ใหญ่โตมาก ถ้าเราลองเปรียบเทียบกับเซ็กเตอร์อื่น ๆ ของตลาดหุ้นจีนไม่ว่าจะเป็น A-Shares หรือ H-Shares แต่ว่าพอมันปรับตัวลงแรง ๆ ก็จะทำให้บรรยากาศของตลาดเสียไปด้วยเช่นกัน ตรงนี้ก็เป็นจุดที่เรามองเหมือนกันว่าบรรยากาศที่เสียก็จะทำให้นักลงทุนก็จะรู้สึกไม่ค่อยอยากลงทุน คนก็อาจจะยังไม่ได้อยากจะมาไอพีโอในช่วงนี้ก็ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงแล้วก็กระตุ้นตลาดยากขึ้น

Advertisment

Q : แนะนำนักลงทุนในการลงทุนในช่วงนี้หรือครึ่งปีที่เหลืออย่างไรบ้าง ?

สำหรับปัจจัยบวกของจีนจริง ๆ ก็ถือว่ายังไม่ได้แตกต่างจากเดิมนะครับ ยังมีอยู่แล้วทางเราก็เชื่อว่าโอกาสสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังมี หลายคนกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะเข้าช่วงทศวรรษที่หายไป (Lost Decade) เหมือนในฝั่งของญี่ปุ่นตอนประมาณปี 1990 เพราะว่ามีวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่คล้ายคลึงกัน  แต่ถ้าเกิดเราไปดูในสมัยนั้นญี่ปุ่นมีการเติบโตใน 2 มุม ก็คือรายได้ของคนญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นด้วย แต่ว่ารายได้ของคนจีนหรือว่า GDP per capita ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ถ้า ณ ปัจจุบันแค่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ก็ยังถือเป็นไม่ถึง 20% ของคนสหรัฐเลย ซึ่งตรงนี้เราเชื่อว่าโอกาสในการเติบโตในเชิงของการบริโภคยังมีอีกมาก

จุดที่สองก็คือในเรื่องของราคาอสังหาริมทรัพย์ถ้าย้อนกลับไปเทียบกับญี่ปุ่นตอนนั้นต้องบอกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์เติบโตแรงมาก ที่ดินในญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี โตขึ้นมาประมาณ 500-600% แต่จีน 10 ปีที่ผ่านมาก็ยังเติบโตแค่ระดับประมาณ 200% เพราะฉะนั้นดาวน์ไซด์มันจะไม่สูงเท่าต่อให้ปรับฐานลงมาก็คิดว่าไม่ได้เกิดฟองสบู่ที่แตกรุนแรง ตรงนี้เราก็ยังค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกว่าจุดนี้ไม่น่าจะทำให้ตลาดมีการปรับฐานลงไปมากกว่านี้

และก็ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปสมัยก่อนญี่ปุ่นก็เป็นจุดสำคัญที่นักลงทุนทุกคนให้ความสำคัญและก็ให้ความสนใจอสังหาริมทรัพย์ก็จะเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ในตลาดหุ้น แต่ว่าตอนนี้ของจีนอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นแล้ว ในส่วนของขนาดของตลาดหุ้น  Market Cap. ต่อ GDP ของจีนก็แค่ประมาณ 70% เท่านั้นเอง ถ้างั้นตรงนี้เราก็ยังมองว่าในเรื่องของราคา (Valuation) ก็เป็นอีกหนึ่งอันที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้

จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือในเรื่องของอัตราการแลกเปลี่ยนก็คือค่าเงินหยวนถ้าสังเกตจริง ๆ จีนยังสามารถคุมได้ รอบนี้จีนไม่ได้มีแรงกดดันและก็เข้าสู่ภาวะเงินฝืดด้วยซ้ำเพราะฉะนั้นการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ เราก็จะมองตรงนี้เป็นโอกาสที่ 3 ว่าถ้าเกิดขึ้นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้และก็สามารถปล่อยเงินหยวนให้อ่อนค่าได้ ตรงนี้ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้

ถ้ารวม 3 ตัวองค์ประกอบจะบอกกันง่าย ๆ เลยก็คือจุดที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้มันน้อยลง อย่างแรกเลยก็คือโอกาสในฝั่งของอสังหาริมทรัพย์ในจีนเรียกว่าหายไปเลย แล้วก็โอกาสที่จะฟื้นทางการจีนก็คงไม่ได้เร่งตรงนี้และก็คงยาก แต่ว่าสิ่งที่เรายังสามารถลงทุนได้ก็คือภาคที่เกี่ยวกับการบริโภค ผมเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโต ราคาหุ้นในจีนถือว่ายังไม่แพงแล้วก็โอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีแต่ตรงนี้อาจจะต้องรอจังหวะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน

เราก็มองไปเลยว่าเซ็กเตอร์เทคโนโลยีจะเป็นเซ็กเตอร์ที่ยังมีโอกาสแล้วก็น่าสนใจ และก็อย่างสุดท้ายเราเชื่อว่าความแตกต่างของจีนในรอบนี้ก็คือในส่วนของนโยบาย ถ้าเขาไม่เน้นอสังหาริมทรัพย์และเขาไปเน้นตรงไหน จุดที่นักลงทุนอาจจะต้องจับตาไปเลยก็คือธุรกิจในฝั่งของอีวีหรือว่าธุรกิจในฝั่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ นักลงทุนก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนตรงจุดนั้นเพียงแต่อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องของราคาและก็โครงสร้างของธุรกิจนิดหน่อย