ได้รัฐบาลใหม่ มีผลกับมูลค่าหุ้นหรือว่าแค่ Sentiment

สมบัติ นราวุฒิชัย
สมบัติ นราวุฒิชัย
บทความโดย : สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)
การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีผลอย่างมากต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ส่งผลมาถึงผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น

หลังจากรอมากว่า 3 เดือนหลังเลือกตั้ง เราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว คือ คุณเศรษฐา ทวีสิน ส่วนทีม ครม.นั้น คงจะได้ทราบชื่อชัดเจนและเริ่มทำงานได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ มีพรรครวมกัน 11 พรรค รวม 314 เสียง โดยมีการดึงพรรคที่เคยอยู่ในรัฐบาลเดิมมา 5 พรรค แต่กลับไม่มีพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นพันธมิตรสำคัญ อีกทั้งยังต้องอาศัยเสียง สว. อย่างน้อย 61 เสียง ซึ่งที่สุดก็ได้เสียงโหวตเกินเป้าหมาย รวมถึงได้เสียงแถมจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์มาอีก 16 เสียง ทั้งที่ไม่ได้ประกาศเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

หุ้น

ประเด็นบทความเดือนนี้ ที่น่าหยิบมาพูดคุยทางวิชาการเพื่อการลงทุน คือ ปัจจัยการตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น จะมีผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นหรือไม่ หรือเป็นเพียง Sentiment ของการลงทุนช่วงสั้น ๆ  

ในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น โครงสร้างหลัก ๆ มาจากการคาดการณ์ EPS ในปีอนาคต การคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีความเสี่ยง (Rf) และประเมินระดับความเสี่ยงของหุ้นที่ลงทุน (Risk Premium)

ด้วยความที่ รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการบริหารเศรษฐกิจ ผลสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันนโยบายสำคัญของพรรครัฐบาล ซึ่งจะมากหรือน้อย ได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ขึ้นกับความมุ่งมั่นและความสามารถของรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีผลอย่างมากต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ส่งผลมาถึงผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น

ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้ว่าแบงก์ชาติเป็นผู้ดูแล และมีตัวแปรมากมาย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงปรับขึ้นตามหลังอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ปัจจัยสถานะและศักยภาพของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีนั้น มีผลกับการยอมรับจากนานาชาติ จึงมีส่วนกับทิศทาง Fund Flow และมีส่วนกับการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบไปถึงค่าเงิน สภาพคล่องในระบบ และระดับอัตราดอกเบี้ย ผู้ลงทุนคงต้องติดตามดูว่า ทิศทาง Fund Flow จะเริ่มไหลกลับเข้ามาตามคาดหรือไม่ รวมถึงการมุ่งมั่นออกไปเจรจาการค้าตามที่นายกฯ เศรษฐาเคยประกาศไว้ช่วงหาเสียง จะได้ผลสำเร็จเพียงใด อย่างไรก็ตามผมตั้งความหวังว่า ผลดีเหล่านี้จะส่งดอกออกผลในราวต้นปี’67

นอกจากนั้นแล้ว ในมุมของ Risk Premium ต้องนับว่าระดับความมั่นคงของรัฐบาล และการยอมรับของประชาชน การยอมรับของนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและราคาหุ้น ปรากฏการณ์ในหลายสิบปีของประเทศไทย น่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ เมื่อมีความเสี่ยงทางการเมืองมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะตกดำดิ่ง เมื่อความเสี่ยงลดลง ราคาหุ้นก็จะทะยานขึ้น เป็นเช่นนี้เสมอมา 

สรุปจากเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น การพิจารณาตัวแปรในการวิเคราะห์มูลค่าหุ้น จึงต้องมีการประเมินสถานะความมั่นคง และศักยภาพของคณะรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี

เมื่อมามองการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลและผู้เป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ผมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดทางการเมืองในรอบ 9 ปี ซึ่งผมจะกล่าวในมุมที่โยงมาถึงการวิเคราะห์เพื่อการลงทุนเท่านั้น โดยไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ในมุมของคอการเมือง และมีประเด็นดังนี้

1.ความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ มีสูงกว่ารัฐบาลเดิม เท่ากับตัวแปรด้าน Risk ลดลง จึงส่งผลทางบวกต่อมูลค่าหุ้น

  • หลังจากผ่านการโหวตเป็นนายกฯ แล้ว ต่อจากนี้ไป การทำงานในสภา พรรครัฐบาลจะต้องการเสียง สส. ที่เกินกว่า 250 เสียง แต่พรรคร่วมมี สส. 314 เสียง สูงกว่ารัฐบาลเดิมมาก อีกทั้งยังมีเสียงสำรองจาก สส. ของประชาธิปัตย์ กลุ่มใหญ่ราว 20 เสียง พอจะช่วยป้องกันการต่อรองของพรรคร่วมได้ดีระดับหนึ่ง
  • ทีมพรรคเพื่อไทยได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนต่างชาติ จากประวัติผลงานการบริหารเศรษฐกิจสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล รัฐบาลใหม่มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมากในสายตาของนานาชาติ อีกทั้งการเลือกคุณเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศมาแล้ว มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยจึงน่าจะผลักดันนโยบายหลักทางเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี
  • ทุกพรรคนอกจากพรรคก้าวไกล ไม่อยากเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เงินทุนเยอะแล้ว ยังน่าจะถูกพรรคก้าวไกลกวาดเก็บยึดส่วนแบ่งที่นั่ง สส. อีกด้วย ดังนั้น การต่อรองและบีบคั้นของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อพรรคเพื่อไทย คงไม่รุนแรงเกินรับได้ จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะใช้กระบวนท่ายุบสภาในช่วงอย่างน้อย 2-3 ปีแรก ผมจึงหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้น่าจะอยู่ได้นานกว่าที่คอการเมืองวิจารณ์กันอยู่ ในเบื้องต้นผมใช้สมมติฐานที่ 3-4 ปี นานพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้นไปได้ครับ
  • ตัวแปรเรื่องนี้ในเบื้องต้นผมใช้สมมุติฐานว่ามีผลบวกกับมูลค่าหุ้น 5%

2.ความคาดหมายด้านการเติบโตปี’66 ต้องปรับลด แต่จะเพิ่มปี’67-69

  • ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง จึงส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนปี’66 ต้องลดลง ในเบื้องต้นผมคาดการณ์ลดลงประมาณ 2%
  • แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่จัดทำงบประมาณเสร็จ และเร่งทำตามนโยบายเศรษฐกิจหลัก ผลบวกชัดเจนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี’67 และเชื่อว่าบรรดานักวิเคราะห์และผู้ลงทุนจะเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี’67-69 สูงกว่าสมมุติฐานยุครัฐบาลเดิม อีกปีละ 2% รวม 3 ปี เท่ากับ 6%

3.นโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะเร่งมือ ส่งผลบวกต่อหลายธุรกิจ

  • ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวตามที่เราได้ทราบ งานวันแรกที่นายกฯ เศรษฐา ดำเนินการทันที คือ บินไปหารือภาคท่องเที่ยวที่จังหวัดสำคัญหลายจังหวัด เชื่อว่าเมื่อเข้าบริหารจริง รัฐบาลจะเน้นหนักทันทีในการโปรโมตเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลบวกของนโบายนี้ จะกระจายความดีไปทั้งธุรกิจโรงแรม อาหาร ค้าปลีก ส่งผลถึงการจ้างงานทำให้มีรายได้เติมกำลังซื้อให้ผู้บริโภคอีกด้วย
  • การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนแบบกระจายไปทุกชุมชนโดยการส่งเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลทันที 10,000 บาท ในกลางไตรมาส 1 ปี’67 เงินเหล่านี้จะทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าหลากหลาย ทั้งอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ของใช้นานาชนิด จุดที่น่าติดตามดู คือความเชื่อเรื่องการหมุนหลายรอบทางเศรษฐกิจจากการกระตุ้นแรง ๆ ครั้งนี้
  • ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี เป็น 25,000 บาท ตั้งเป้าภายในปี 70 ต้องติดตามว่าจะใช้วิธีทยอยขึ้นอย่างไร การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนด้วยการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนนี้ จะสนับสนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการนานาชนิดเช่นกัน และแม้ว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนที่มีโครงสร้างต้นทุนจากแรงงานมาก เเต่การประกาศล่วงหน้ายาว ๆ ทำให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมการปรับตัว และได้รับการชดเชยบางส่วนจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับการกระตุ้นให้ฟื้นตัวขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี’67-70
  • การลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคที่คาดกันว่าจะเข้ามาดูแลกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดว่าจะช่วยดูแลปรับให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าลดลงจากเดิม นอกเหนือจากจะช่วยให้ประชาชนเหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ได้มากขึ้น ยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจลดต้นทุนได้อีกด้วย

4.มีความกังวลเรื่องเก็บภาษีการขายหุ้นเป็นลบต่อเนื่องจากรัฐบาลเดิม

การเดินเรื่องเก็บภาษีจากการมูลค่าการขายหุ้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ เหตุผลหลักน่าจะมาจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นมากในหลายปีหลังมานี้ จึงต้องหาวิธีเก็บภาษีมาชดเชย โดยฝ่ายรัฐคิดว่าคนเล่นหุ้นนั้นเป็นคนรวย แต่รัฐอาจไม่ได้ข้อมูลล่าสุดมาว่า ล่าสุดนั้นผู้ลงทุนในหุ้นปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ และคนที่ไม่ได้มีเงินล้านก็ได้เข้ามาออมเงินโดยการซื้อหุ้น

ส่วนการขายหุ้นนั้นก็เหมือนกับการถอนเงินออมจากเงินฝากธนาคาร หรือถอนเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เหมือนขายหุ้นของสหกรณ์เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งกิจกรรมถอนเงินออมเหล่านั้นไม่ถูกเก็บภาษีการถอนเงินออม ขณะที่การถอนเงินออมจากหุ้น ที่เรียกว่าการขายหุ้นจะถูกเก็บภาษี และพิเศษกว่านั้นคือ แม้ว่าจะถอนเงินโดยการขายหุ้นแล้วขาดทุนก็ต้องถูกเก็บภาษีเช่นกัน

อัตราการเก็บภาษีที่ตั้งเรื่องกันไว้ที่ประมาณ 0.11% ต่อครั้ง คนนอกวงการฟังแล้วรู้สึกว่าน้อย แต่คนที่มีความเข้าใจในตลาดทุน จะรู้ว่านั่นเป็นอัตราที่สูงมาก เทียบกับอัตราค่านายหน้าโดยเฉลี่ยที่บริษัทหลักทรัพย์เก็บจากผู้ลงทุน ที่ปัจจุบันต่ำกว่า 0.10% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนต่างชาติมีอัตราที่ต่ำมาก ๆ อาจต่ำถึง 0.03% หรือต่ำกว่านั้น

ดังนั้นการเก็บภาษีตอนขายที่ 0.11% ต่อครั้ง จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก และหากเรามีการถอนเงินออมจากการขายหุ้นตัวแรก แล้วไปซื้อตัวใหม่ที่ดูน่าจะฝากอนาคตได้มากกว่า ต่อมาถอนเงินออมด้วยการขายหุ้นตัวที่ 2 ก็ต้องถูกเก็บภาษีการขายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าใน 1 ปี เราซื้อแล้วขายหมุนเวียนไป 5 รอบ เราก็จะโดนเก็บภาษีการขายไป 0.55% พอเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของประเทศไทย

ช่วงหลัง ๆ 5 ถึง 10 ปีมานี้ เฉลี่ยได้ต่ำมาก แถว ๆ 2-3% ต่อปี ดูแล้วลดแรงจูงใจให้ลงทุนในหุ้นไปมากทีเดียว และคาดกันว่า Fund Flow จากต่างชาติน่าจะลดลงไปเป็นอย่างมาก นี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไม Fund Flow จากต่างชาติจึงขานรับรัฐบาลใหม่ไม่ค่อยแรง ทั้งที่ตามเหตุผลข้อ 1-3 ที่ผมอธิบายควรมีผลบวกมากกว่านี้

ความกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะเก็บภาษีขายหุ้น ผมเชื่อว่าเป็นผลลบกับมูลค่าหุ้นประมาณ 5% เพราะไปลดผลตอบแทนจากการลงทุนทุกปี แต่ราคาหุ้นได้สะท้อนรับข่าวนี้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะยังมีลุ้นว่ารัฐบาลใหม่อาจไม่ประกาศเก็บก็ได้สุทธิแล้ว หากเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการก็จะเป็นลบกับมูลค่าหุ้นอีกราว 2.5% ผมจึงขออนุญาตเรียนแนะนำ รัฐบาลใหม่ทบทวนเรื่องนี้อีกสักครั้ง หรือช่วยดำเนินการให้เศรษฐกิจเเข็งแรงก่อน จนราคาหุ้นขึ้นพอให้ผู้ลงทุนมีกำไรสวย ๆ ปีละ 7-10% อย่างต่อเนื่องก่อนนะครับ

สรุปผลประเมิน เมื่อรวมผลบวกและลบทั้งหมด ผมมองว่า มูลค่าของหุ้นโดยรวมซึ่งเราจะสะท้อนออกไปที่ SET Index ควรจะมีมูลค่าสูงขึ้น 6.5% เทียบกับวันฐานที่เรายังไม่มั่นใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกันแน่ (ช่วงระดับ 1,520 จุด) มูลค่าหุ้นจะไปที่ 1,619 จุด เป้าหมายวันเวลาที่ปลายไตรมาส 4 เมื่อตลาดได้เห็นการเริ่มทำงานของ ครม. หลังถวายสัตย์แล้ว กระทั่งได้เร่งจัดทำงบประมาณมารองรับแผนงานตามเป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดคงจะครบถ้วนในปลายไตรมาสที่ 4 นี้ครับ ซึ่งเราคงต้องติดตามดูว่า มีความสำเร็จตามเป้าหมายนี้หรือไม่ เพื่อปรับมุมมองการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความคืบหน้าหรือความติดขัดครับ

ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าจะขานรับทางบวก โดยแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ ผลบวกกระจายไปหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีกและศูนย์การค้า ผู้ผลิตของใช้หลากหลายที่มีโอกาสรองรับการเติมกำลังซื้อประชาชน กลุ่มธนาคาร Finance ธุรกิจสื่อ และธุรกิจสื่อสารก็น่าจะเก็บเกี่ยวผลบวกไปด้วยกัน ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยต้องเลือกเฟ้นเฉพาะบริษัทที่มีแบรนด์ดีและฐานะมั่นคง จึงจะได้ผลบวกเกินกว่าผลกระทบจากต้นทุนก่อสร้างที่จะเพิ่มจากค่าแรงงาน

บางธุรกิจที่ยังควรระมัดระวัง ได้แก่ หุ้นบริษัทที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูง เช่น ธุรกิจสิ่งทอ และผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่แบรนด์ไม่แข็งแรง และมี Margin ต่ำหรือยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากความยากลำบากในการแบกรับต้นทุนแรงงานที่จะสูงขึ้นอีก และยังมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงกว่าบริษัทชั้นนำค่อนข้างมาก เป็นต้น