ดอกเบี้ย-หนี้ กับดักเศรษฐกิจโลก

EGYPT-POLITICS
A picture taken on August 25, 2022 shows Egyptian pound and US dollar banknotes. Depleted foreign reserves are casting a shadow on Egyptian streets, with the government moving to dim lights to free up energy for export. More natural gas exports means more hard currency, a dire need as a new loan from the International Monetary Fund (IMF) and an adjacent currency liberalisation loom. (ภาพโดย Khaled DESOUKI / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจโลกในยามนี้ขยายตัวแบบแปลก ๆ ฝืนทิศทางที่ควรจะเป็นอยู่บ้าง เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพียงแค่เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ทุกคนพากันลงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ไม่ช้าไม่นานสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

แต่ในตอนนี้ หลายสิ่งหลายอย่างพลิกผันไปในทางตรงกันข้าม ชนิดที่แม้แต่คนที่มองโลกในแง่ดีที่สุดก่อนหน้านี้ก็ยังคาดไปไม่ถึง

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างน่าทึ่งถึง 4.9% ในไตรมาสที่สาม อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังลดระดับลง อัตราว่างงานยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะ ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (อีซีบี), กองทุนสำรองแห่งรัฐบาลกลาง (เฟด) และธนาคารกลางของอังกฤษ แม้แต่จีนยังมีโอกาสเอาตัวรอดจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ได้ โดยไม่ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวมากมายนัก

แต่ปัญหาก็คือ ทั้งหมดนี้ไม่ได้วางอยู่บนฐานรากที่มั่นคงเท่าใดนัก ยิ่งเมื่อมองไปข้างหน้า ไม่เพียงภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น ในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจโลกยังมีกับดักและขวากหนามขวางกั้นอยู่มากมายอีกด้วย

ข้อที่ต้องสังเกตกันไว้เป็นประการแรก ก็คือ บรรดาธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็จริง แต่อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ลดลง ในเวลาเดียวกันสัดส่วนของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวถีบสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ต้นทุนกู้ยืมของรัฐย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในเวลานี้จำต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 5% สำหรับการกู้ยืมผ่านพันธบัตรรัฐบาลในระยะเวลา 30 ปี สูงขึ้นกว่าระดับ 1.2% ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้มากนัก ในทำนองเดียวกัน เมื่อไม่ช้าไม่นาน ต้นทุนการกู้ยืมของเยอรมนีอยู่ในแดนลบ แต่ตอนนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรในระยะ 10 ปี ถึงเกือบ 3% หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้องยกเลิกคำมั่นสัญญาที่ว่าจะตรึงค่าตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของตนไว้ที่ 1% ไปแล้ว

Advertisment

อัตราดอกเบี้ย ต้นทุนการกู้ยืม คือกับดัก คืออันตรายที่จะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นาน ในทันทีที่สถานการณ์ขยายตัวแบบแปลก ๆ ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้สิ้นสุดลง

นักวิชาการส่วนหนึ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอเมริกันขยายตัวได้อย่างน่าทึ่งในเวลานี้ สาเหตุสำคัญมาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ด้วยเงินทองที่จำเป็นต้องสะสมเอาไว้ตลอดช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะไม่มีหนทางจับจ่าย บวกกับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายระลอก

Advertisment

เงินจำนวนดังกล่าวพร่องไปเรื่อย ๆ กระนั้นข้อมูลล่าสุดก็ยังระบุว่า ครัวเรือนอเมริกันยังคงเหลือเงินเหล่านั้น รวมกันอยู่มากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในทันทีที่เงินเหล่านี้งวดลง อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเริ่มกัดกิน บีบรัดให้ผู้บริโภคอเมริกันไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้โดยเสรี ตามใจต้องการเหมือนที่ผ่านมา สภาพเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่จะเกิดกับทุกประเทศ หากอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับสูง เป็นเวลายาวนานมากเท่าใด ปัญหาก็จะใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น

ปัญหาจากอัตราดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อรัฐบาลเท่านั้น ยังกระทบต่อบริษัทธุรกิจที่ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาจะตกต่ำลงเรื่อย ๆ เป็นต้น

อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ปัญหาหนี้สินที่เคยหนักกลายเป็นปัญหารุนแรงระดับวิกฤตได้โดยง่าย ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเทศอย่าง อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี และญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะขาดดุลงบประมาณในปี 2023 สูงถึงระดับใกล้เคียงหรือเท่ากับระดับ 5% ของจีดีพีของแต่ละประเทศ

ส่วนสหรัฐอเมริกา ถ้านับเฉพาะตั้งแต่เดือนกันยายนย้อนหลังขึ้นไป 12 เดือน รัฐบาลอเมริกันขาดดุลงบประมาณสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.5% ของจีดีพี

ในยามที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ภาระหนี้เหล่านี้ยังคงบริหารจัดการได้ แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยสูงลิ่ว เงินงบประมาณถูกหั่นไปใช้เพื่่อการชำระดอกเบี้ยสูงขึ้นตามลำดับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ รัฐบาลจำเป็นต้องรัดเข็มขัด เพื่อให้สถานะทางการคลังอยู่รอด แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็ตามที

นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือตกอยู่ในภาวะเจ็บปวดยาวนานตามมาโดยดุษณี