
เศรษฐกิจยูโรโซน “หดตัว” ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเดือนตุลาคมที่เผยแพร่ในวันนี้ ค่าดัชนีลดลงจากเดือนกันยายน บ่งชี้แนวโน้มว่ามีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า กิจกรรมทางธุรกิจของยูโรโซน (20 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโร) ในเดือนตุลาคม 2023 ชะลอตัวในอัตราที่เร่งตัวขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ (demand) ในภาคอุตสาหกรรมการบริการซึ่งมีบทบาทสำคัญอ่อนตัวลงอีก บ่งชี้ว่ามีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มยูโรโซน
หลังจากที่จีดีพีของยูโรโซนในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาหดตัว 0.1% ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการในเดือนตุลาคมซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 6 พฤศจิกายนบ่งชี้ว่ายูโรโซนเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ในสภาพที่ไม่สู้ดี
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยูโรโซนซึ่งจัดทำโดยฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) รวบรวมโดย เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ในเดือนตุลาคมลดลงเหลือ 46.5 จุด จากระดับ 47.2 จุด ในเดือนกันยายน เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปมีการใช้มาตรการข้อจำกัดอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ค่า PMI ที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจหดตัว และยิ่งต่ำลงจาก 50 จุดเท่าไร ยิ่งบ่งชี้แนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลึกขึ้น ซึ่ง PMI ของยูโรโซนนั้นอยู่ต่ำกว่า 50 มาเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อีกทั้งยังลดลงอีกในเดือนล่าสุด
เอเดรียน เพรตต์จอห์น (Adrian Prettejohn) จากบริษัทวิจัย แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า PMI ขั้นสุดท้ายที่เผยแพร่ในวันนี้ยืนยันการคาดการณ์เบื้องต้น และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของแคปิตัล อีโคโนมิกส์ว่า จีดีพีของยูโรโซนจะหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 4 นี้
เขาบอกว่าแนวโน้มยังดูอ่อนแอมาก คำสั่งซื้อใหม่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 (ไม่รวมช่วงเดือนแรก ๆ ที่เกิดการระบาดของโควิด-19) ในขณะที่การส่งออกก็อ่อนแอเป็นพิเศษเช่นกัน
ขณะที่กิจกรรมการผลิตในเดือนตุลาคมก็ถอยหลังกลับไปอีกขั้น จากการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าคำสั่งซื้อใหม่หดตัวในอัตราที่มากที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลครั้งแรกในปี 1997
เป็นภาพที่คล้ายกันกับภาคการบริการและดัชนีธุรกิจใหม่ซึ่งอยู่ในระดับ “ต่ำสุด” นับตั้งแต่ต้นปี 2021 เนื่องจากผู้บริโภคที่มีหนี้สินรู้สึกว่าได้รับแรงกดดันจากราคาที่สูงขึ้นและต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาระมัดระวังการใช้เงิน
กิจกรรมภาคบริการในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในฝรั่งเศสก็หดตัวอีกครั้งเช่นกัน ส่วนกิจกรรมภาคการบริการของอิตาลีหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และหดตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบปี
ในบรรดา 4 ประเทศใหญ่ มีเพียงสเปนที่สวนทาง โดยกิจกรรมภาคบริการของสเปนเติบโตในอัตราที่เร็วขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ครั้ง แต่ ECB ยืนยันว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นเร็วเท่าที่นักลงทุนพูดคุยกันในตลาด
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายการเงินซึ่งล้มเหลวในการนำอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมาย ดูเหมือนจะได้รับกำลังใจจากแรงกดดันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง ซึ่งแสดงให้เห็นในการสำรวจ PMI จากดัชนีราคาปัจจัยการผลิตและราคาขายออกในเดือนตุลาคมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน (MOM)