ส่อง 4 ประเทศใหญ่ในยุโรป จะรอด-ไม่รอด หลัง ECB ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในประวัติศาสตร์

เศรษฐกิจยุโรป
สัญลักษณ์เงินยูโร หน้าอาคารธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี (ภาพโดย Kirill KUDRYAVTSEV / AFP)

คณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2023 นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10 นำอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 4.00%-4.50% 

นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับนี้น่าจะเป็นระดับจุดสูงสุดของการใช้นโยบายการเงินตึงตัวในรอบปัจจุบันแล้ว 

ขณะที่ คริสตีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางยุโรปบอกว่า ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่านี่เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของรอบนี้หรือไม่ แม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณเป็นนัยว่าอัตราดอกเบี้ยตอนนี้เป็นระดับสูงสุดของรอบนี้แล้ว

ดอกเบี้ยสูง 4.00%-4.50% นับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ยุโรปเริ่มใช้เงินสกุล “ยูโร” เป็นสกุลเงินร่วมภายใต้ “ตลาดเดียว” เมื่อปี 1999 หรือ 24 ปีที่แล้ว หลังจากที่ก่อตั้ง ECB ขึ้นมาเป็นธนาคารกลางของกลุ่มในปี 1998

นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงแล้ว สิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจกังวลคือ ECB จะคงดอกเบี้ยสูงระดับนี้ไว้นานเท่าใด ซึ่งเท่าที่ทราบ คือ ประธาน ECB บอกว่า อัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันนี้จะยังคงถูกใช้ในปีหน้า แต่ไม่ได้บอกว่ามีโอกาสจะปรับลดลงภายในปีหน้าด้วยหรือไม่

ในปีนี้ เศรษฐกิจยุโรป ทั้ง 27 ประเทศสหภาพยุโรป (EU) และ 20 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ในภาพรวมชะลอตัวค่อนข้างมาก และบางประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและอาจจะคงไว้เป็นเวลานานจึงไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ 

Advertisment

ภาคธุรกิจในยุโรปเผชิญกับภาวะ “อยู่ยาก” มาหลายเดือนต่อเนื่อง เพราะต้นทุนการเงินที่สูงบวกกับการบริโภคของผู้บริโภคต่ำ จนทำให้ธุรกิจล้มละลายกันไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ Eurostat หน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรป เผยแพร่ข้อมูลว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 จำนวนการประกาศล้มละลายของธุรกิจในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) จำนวนการล้มละลายในไตรมาส 2 ปีนี้เพิ่มขึ้น 8.4% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ Eurostat เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2015 และการประกาศล้มละลายเพิ่มขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

Advertisment

จึงเป็นที่น่ากังวลว่าต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจยุโรปและสถานการณ์ของภาคธุรกิจแย่ลงอีก 

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพิ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในภาพรวมของสหภาพยุโรปกับยูโรโซน และภาพย่อยในรายประเทศ หลังจากเห็นข้อมูลล่าสุดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกชะลอลง เนื่องจากความอ่อนแอของอุปสงค์ภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคของภาคครัวเรือน 

ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอียูถูกหั่นลงเหลือโต 0.8% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ที่คาดว่าจะโต 1% และการเติบโตของยูโรโซนถูกปรับลดลงเหลือโต 0.8% เช่นกัน จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะโต 1.1%

นอกจากนั้น ข้อมูลที่เพิ่มความกังวลอีกคือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กังวลว่าการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจยุโรปจะเกิดขึ้นควบคู่กันกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่ง ECB คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 5.6% และจะอยู่ที่ 3.2% ในปีหน้า ก่อนที่จะลดลงสู่เป้าหมาย 2% ได้ในปี 2025 

ถึงแม้ว่ายุโรปจะรวมตัวกันเป็นตลาดเดียว แต่ปัจจัยภายในของแต่ละประเทศก็ต่างกัน อัตราเงินเฟ้อแยกรายประเทศก็สูง-ต่ำต่างกัน การเติบโตของเศรษฐกิจในรายประเทศก็ต่างกัน และความพร้อมรับมือนโยบายการเงินที่เข้มงวด และรับมือปัจจัยลบทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน 

มาดูกันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรปตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง  

เยอรมนี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พี่ใหญ่แห่งยุโรป” เป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วในปีนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าปีนี้จีดีพีของเยอรมนีจะหดตัว 0.4% ปรับลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะโตได้ 0.2%

ขณะที่ฝรั่งเศสและอิตาลีใกล้จะเข้าภาวะชะงักงัน (stagnant) โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่เหนือเลข 0 เพียงเล็กน้อย

นักวิเคราะห์จากสถาบันคีล (Kiel Institute for the World Economy: IfW Kiel) คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีปีนี้จะหดตัว 0.5% โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ วิกฤตในภาคการก่อสร้าง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอ 

ภาคธุรกิจในเยอรมนีคาดการณ์กันว่าการกลับมาเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาอีกนาน และเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก 

ฝั่งผู้บริโภคในเยอรมนีซึ่งระมัดระวังกับความไม่แน่นอนในอนาคตกำลังลังเลที่จะซื้อของชิ้นใหญ่หรือจ่ายเงินครั้งละมาก ๆ และกำลังออมเงินอย่างบ้าคลั่งเพื่อความมั่นคงทางการเงินของตนเอง

ขณะที่ครัวเรือนในฝรั่งเศสก็กำลังออมเงินมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรป คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะเติบโตเพียง 1% ในปีนี้ และ 1.2% ในปีหน้า  

ส่วนเศรษฐกิจอิตาลีทั้งปีนี้จะอ่อนแอ แม้ว่าจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปี แต่จีดีพีในไตรมาสสองกลับหดตัวลง 0.4% กิจกรรมภาคการบริการและภาคการผลิตที่หดตัวลงในเดือนสิงหาคม เผยให้เห็นถึงความเสี่ยงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังอ่อนแอจนถึงไตรมาสที่สาม คณะกรรมาธิการยุโรปจึงปรับลดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะเติบโตเพียง 0.9% ในปีนี้ และ 0.8% ในปีหน้า  

ฝั่งสเปน เป็นประเทศเดียวที่อยู่ในทิศทางที่ดี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับประโยชน์จากแรงกดดันด้านราคาที่ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขึ้นค่าจ้าง คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า สเปนจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีกว่าเพื่อน ด้วยอัตราการเติบโต 2.2% ในปีนี้ และ 1.9% ในปีนี้ 2024