
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ภายหลังจากรุกรานยูเครนและถูกชาติตะวันตกแซงก์ชั่นอย่างหนัก รวมทั้งบริษัทต่างชาติพากันยกเลิกการลงทุนและถอนตัวออกมา ซึ่งคาดหมายกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในฐานะลำบากอย่างหนัก แต่ฝ่ายรัสเซียก็พยายามจะออกมาสื่อสารกับโลกว่า รัสเซียยังสุขสบายดี ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าการคุมเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไม่ให้เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ได้ผล หรือแม้กระทั่งอ้างว่าบริษัทต่างชาติที่อ้างว่าจะถอนตัวจากรัสเซีย แท้จริงแล้วถอนตัวไปไม่มาก
หลังจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 บริษัทต่างชาติมากกว่า 1,000 แห่ง ประกาศจะถอนตัวจากรัสเซีย แต่ล่าสุด “ดิมิทรี เปสคอฟ” โฆษกรัฐบาลรัสเซีย บอกว่าตอนนี้ก็ผ่านมาเกิน 20 เดือนแล้ว แต่บริษัทเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ “มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากยังทำธุรกิจในรัสเซีย พวกที่ยังอยู่ มากกว่าพวกที่ถอนตัวเสียอีก”
ตามรายงานของบิสซิเนสอินไซเดอร์ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก 2 แหล่ง คือ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และจากมหาวิทยาลัยเคียฟ ยูเครน จะเห็นรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ ข้อมูลของมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้มาแต่ต้น โดยเน้นศึกษาบริษัทต่างชาติที่มีรายได้อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป ได้เปิดเผยการค้นพบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่ามีบริษัทต่างชาติ 552 แห่ง ยังคงดำเนินธุรกิจในรัสเซีย โดยมีทั้งดำเนินการตามปกติ และแบบที่ลดขนาดการลงทุนลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนอีก 502 บริษัทลดการลงทุนลงอย่างมาก โดยเผื่อทางเลือกไว้ว่าจะกลับมาดำเนินกิจการในอนาคต ขณะที่อีก 535 บริษัทเลิกกิจการอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นก็เป็นจริงตามที่โฆษกรัฐบาลรัสเซียอ้างที่ว่า บริษัทที่ถอนตัวสิ้นเชิง มีน้อยกว่าบริษัทที่ยังดำเนินการอยู่
ส่วนข้อมูลของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคียฟ (KSE) ซึ่งทำการศึกษาบริษัทที่จ่ายภาษีอันดับต้น ๆ ให้กับรัสเซียหรือมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี และเป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเกิน 51% พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ถอนตัวจากรัสเซีย โดยระบุว่า 1,582 บริษัท ยังคงทำธุรกิจในรัสเซีย มีเพียงไม่ถึง 300 บริษัทที่ถอนตัวอย่างสิ้นเชิง
เปอร์เซ็นต์ของบริษัทต่างชาติที่ปิดกิจการในรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงรัสเซียเริ่มบุกยูเครนไปจนถึงกลางเดือนเมษายน 2022 แต่ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์การถอนตัวและการอยู่ต่อค่อนข้างนิ่ง บริษัทขนาดใหญ่ชื่อดังที่ถอนตัวอย่างสิ้นเชิง ก็อย่างเช่นแมคโดนัลด์ ฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทพลังงานบีพี ซึ่งสูญเสียไป 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากการถอนตัวครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม “สตีเว่น เทียน” นักวิจัยของเยล ชี้ว่า ก่อนสงคราม ไม่ชัดเจนว่ามีบริษัทต่างชาติกี่แห่งกันแน่ที่ทำธุรกิจในรัสเซีย และแม้ข้อมูลจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทจำนวนมากยังคงอยู่ในรัสเซีย แต่สิ่งที่มากกว่าตาเห็นก็คือ บริษัทขนาดใหญ่ถอนตัวไปเป็นส่วนมาก ที่ยังเหลืออยู่ส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทต่างชาติอ้างเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถออกจากรัสเซียได้ หนึ่งในนั้นคือรัฐบาลรัสเซียออกมาตรการที่ทำให้บริษัทต่างชาติมีความยุ่งยากลำบากในการถอนตัว เช่น ต้องบริจาคให้รัสเซียหรือต้องขายกิจการในราคาถูกแสนถูก และต้องขายเป็นเงินรูเบิล ดังนั้นจะยิ่งทำให้การออกจากรัสเซียล่าช้าออกไปอีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่บริษัทต่างชาติเหล่านี้ยังทำธุรกิจอยู่ในรัสเซีย มีส่วนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียบูมแม้ในยามสงคราม โดยทางการรัสเซียประเมินว่า ไตรมาส 3 จีดีพีจะเติบโต 5.5% ต่างจากช่วงเดียวกันของปี 2022 ที่ติดลบ 3.5%
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์รัสเซียชื่อดัง อย่างไอกอร์ ลิปซิตส์ ชี้ว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมของรัสเซียต่างหากที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงว่าชาวรัสเซียส่วนใหญ่ไม่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่เติบโต ดังนั้นแม้รัฐบาลรัสเซียจะวาดภาพสวยหรูเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์จริงย่ำแย่