
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
อย่างที่ทราบกันหลังจากรัสเซียถูกอเมริกาและยุโรปแซงก์ชั่นครั้งใหญ่ ทั้งห้ามการทำธุรกรรมด้วยดอลลาร์สหรัฐ และปิดท้ายด้วยการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียไว้ที่ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อลดรายได้ของรัสเซียไม่ให้มีเงินไปทำสงครามรุกรานยูเครน ทางรัสเซียได้หันไปใช้เงินหยวนของจีนเป็นหลัก ปริมาณการค้าขายด้วยเงินหยวนระหว่างจีนกับรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
การถูกจำกัดเพดานราคา เป็นโอกาสให้ทั้งจีนและอินเดียซึ่งเป็นมิตรของรัสเซียสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูก ปริมาณการซื้อน้ำมันจากรัสเซียขยับสูงขึ้นอย่างมาก ล่าสุดในปีนี้อินเดียกลายเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่จากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้บริษัทกลั่นน้ำมันของอินเดียที่เป็นของรัฐบาลจ่ายค่าน้ำมันรัสเซียด้วยเงินหยวน จนมีรายงานว่าอินเดียได้เลื่อนและระงับการจ่ายค่าน้ำมันของเรือบรรทุกน้ำมัน 7 ลำจากรัสเซียเป็นการชั่วคราว
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 16 พ.ย. 2566
- แม็คโคร ยืนยันเลิกซื้อหมูจากเวลท์ แอนด์ เฮลธ์ซี ฟูดส์ ตั้งแต่ปี 2565
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 16 พ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี
มีรายงานว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทกลั่นน้ำมันของอินเดียได้เริ่มจ่ายค่าน้ำมันรัสเซียด้วยเงินหยวน พร้อมกับที่ยังคงจ่ายด้วยดอลลาร์สหรัฐและเดอร์แฮมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไปด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังอินเดียเผยว่า รัฐบาลรู้สึกไม่สบายใจที่จะจ่ายด้วยเงินหยวน ส่วนเจ้าหน้าที่บริษัทโรงกลั่นก็ยอมรับว่ามีเรือน้ำมันอย่างน้อย 7 ลำที่ยังรอการชำระ ทั้งที่บางส่วนในจำนวนนี้ครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือนกันยายน
“ที่จริงแล้วไม่ได้ถึงกับสั่งห้ามไม่ให้เอกชนชำระค่าน้ำมันด้วยเงินหยวน และหากเอกชนมีเงินหยวนเพื่อชำระรัฐบาลก็จะไม่ยับยั้ง แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่ได้ทั้งส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกให้จ่ายด้วยเงินหยวน” เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังอินเดียรายหนึ่งกล่าว
แม้จะไม่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดอินเดียจึงไม่อยากชำระด้วยเงินหยวน แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเห็นว่าทำให้จีนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ท่ามกลางความสัมพันธ์ตึงเครียดจากข้อพิพาทชายแดนระหว่างจีนและอินเดียที่ดำเนินมานาน ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่าก่อนหน้านี้บริษัทกลั่นน้ำมันรัฐของอินเดีย คือออยล์ คอร์ป ได้ใช้ทั้งเงินหยวนและสกุลอื่น ๆ ชำระค่าน้ำมันรัสเซีย ส่วนบริษัทปิโตรเลียม คอร์ปและฮินดูสถาน ปิโตรเลียม ก่อนหน้านี้ไม่ได้ชำระด้วยเงินหยวน แต่ปัจจุบันต้องชำระด้วยสกุลดังกล่าว เพราะรัสเซียเรียกร้องมา แม้อยากชำระด้วยรูปี แต่รัสเซียก็ไม่เต็มใจจะรับ เพราะปัจจุบันรัสเซียเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า อันหมายถึงว่ารัสเซียไม่จำเป็นต้องตุนรูปีเพื่อเก็บไว้ชำระค่าสินค้าอินเดีย
ทางด้านบริษัทโรงกลั่นเอกชนของอินเดียยังคงชำระด้วยเงินหยวนและสกุลอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการจ่ายด้วยเงินเดอร์แฮมของยูเออี อย่างไรก็ตาม การชำระด้วยเงินหยวนสร้างต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องมีการแปลงค่าเงินถึงสองครั้ง กล่าวคือแปลงรูปีไปเป็นดอลลาร์ฮ่องกงเสียก่อน จากนั้นค่อยแปลงเป็นหยวน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 2-3% เมื่อเทียบกับการจ่ายด้วยเดอร์แฮม
อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียจะระงับการจ่ายค่าน้ำมันชั่วคราวในระหว่างมองหาทางเลือกในการชำระ แต่บริษัทน้ำมันรัสเซียยังคงนำส่งน้ำมันให้อินเดียอย่างต่อเนื่องไม่มีการสะดุด
การถูกแซงก์ชั่นและถูกจำกัดเพดานราคาทำให้รัสเซียและผู้ซื้อน้ำมันจากรัสเซียพยายามหลบหลีกการแซงก์ชั่น แต่อเมริกาและยุโรปก็ได้จับตามาโดยตลอด ล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม กระทรวงการคลังสหรัฐได้ลงโทษบริษัทขนส่งน้ำมันสองแห่ง คือลัมเบอร์ มารีน ของยูเออี และไอซ์ เพิร์ล เนวิเกชั่น ของตุรกี ฐานละเมิดเพดานราคาด้วยการขนส่งน้ำมันรัสเซียในราคา 75 และ 80 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ทำให้ทั้งสองบริษัทถูกแบนไม่ให้ทำธุรกิจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือการเงินของสหรัฐอเมริกา
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทขนส่งน้ำมันทางเรือส่วนใหญ่มักต้องใช้บริการประกันภัยจากบริษัทอเมริกันหรือยุโรป การถูกแซงก์ชั่น ทำให้ไม่ค่อยมีบริษัทใดกล้าละเมิดกฎเรื่องเพดานราคา ทำให้รัสเซียพยายามสร้างเครือข่ายขนส่งทางเรือของตัวเองเพื่อขนน้ำมันไปขาย ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าสร้างต้นทุนให้กับรัสเซียราว 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล