ท่าทีของซาอุฯใน BRICS ขึ้นกับการ “ตอบสนอง” ของสหรัฐ

ท่าทีของซาอุฯใน BRICS
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ภายหลังจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่ม BRICS ซึ่งจัดขึ้นที่แอฟริกาใต้เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้เชิญ 6 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ก็คาดว่าทั้ง 6 ประเทศจะเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยว่าที่สมาชิกใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา อียิปต์ และเอธิโอเปีย

ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 ประเทศที่อาจทำให้สหรัฐอเมริกาเคืองเป็นพิเศษ คืออิหร่านในฐานะศัตรูของอเมริกา และซาอุดีอาระเบียในฐานะพันธมิตรชิดใกล้ของอเมริกาในตะวันออกกลาง แต่ระยะหลังความสัมพันธ์เริ่มร้าวฉานจากหลายสาเหตุ

กลุ่ม BRICS ซึ่งมีสมาชิกดั้งเดิมประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้เคลื่อนไหวชัดเจนในอันที่จะท้าทายอำนาจของตะวันตก และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ ภายหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และตะวันตกได้แซงก์ชั่นรัสเซียอย่างรุนแรง อีกทั้งอายัดทรัพย์สินของรัสเซียที่เป็นดอลลาร์สหรัฐประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อลงโทษ

การเปิดรับสมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRICS ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากกว่าครั้งไหน ๆ เพราะปัจจุบันนอกจาก BRICS จะมีขนาดประชากรรวมกันคิดเป็น 42% ของประชากรโลก แล้วยังมีขนาดจีดีพี 32.1% ใหญ่กว่า
จีดีพีของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ จี 7 อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นการที่ซาอุฯได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิก จะยิ่งทำให้ BRICS มีพลังอำนาจมากขึ้น เพราะซาอุฯนอกจากจะเคยเป็นอดีตพันธมิตรอเมริกาแล้ว ยังเป็นผู้มีบทบาทมากในตลาดน้ำมันโลก อีกทั้งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ

โดรอน เพสคิน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจตะวันออกกลางและหัวหน้าของ “คองคอร์ด มีนา” ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์กลุ่มประเทศอาหรับชี้ว่า หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ใน 6 ประเทศที่ได้รับเชิญเข้าร่วม BRICS ประเทศที่แสดงออกอย่างดีอกดีใจที่สุดก็คืออิหร่าน

แต่ซาอุฯกลับแสดงท่าทีน้อยที่สุดและระมัดระวัง เห็นได้จากคำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ว่า ซาอุฯจะรอดูรายละเอียดและ “ลักษณะของการเป็นสมาชิก” เสียก่อน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมเข้าเป็นสมาชิกเพียงเพื่อเป็น cash cow หรือ “ตัวทำเงิน ทำกำไร” ที่ต้องสนับสนุนเงินให้กับประเทศที่อ่อนแอกว่า

ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้้ BRICS จะพูดถึงการลดความสำคัญของดอลลาร์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงในกลุ่มสมาชิกที่จะก่อตั้งสกุลเงินทางเลือกในระบบการเงินโลกแต่อย่างใด

ด้าน เนเดอร์ ฮัมดิ ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางระบุว่า การที่ซาอุฯออกมาโยนหินถามทาง ทั้งเรื่องการจะลดความสำคัญของดอลลาร์ ด้วยการออกมาประกาศว่าพร้อมจะรับชำระค่าน้ำมันเป็นเงินหยวนนอกเหนือจากดอลลาร์ รวมทั้งการเตรียมเข้าเป็นสมาชิก BRICS

น่าจะเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากอเมริกา และใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อให้อเมริกาทำตามข้อเรียกร้องมานาน เช่น ให้คำมั่นที่จะปกป้องด้านความมั่นคงให้กับซาอุฯมากกว่าเดิม หรือให้ลดการวิจารณ์
ซาอุฯเรื่องสิทธิมนุษยชน

ฮัมดิระบุว่า การสงวนท่าทีของซาอุฯที่มีต่อคำเชิญของ BRICS ด้วยการบอกว่า ขอศึกษารายละเอียดอย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจ เป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐอเมริกาว่า ซาอุฯจะขอประเมินปฏิกิริยาของอเมริกาก่อน และรอดูว่าอเมริกาจะเสนออะไรมา ก่อนจะเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิก BRICS

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการทูตของซาอุฯในช่วงไม่กี่เดือนมานี้่ ชี้ว่าการมีความสัมพันธ์แข็งแกร่งกับอเมริกาในเชิงยุทธศาสตร์ยังคงเป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับต้น ๆ ของซาอุฯ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จะเห็นว่าซาอุฯนั้น เข้าร่วมกับหลายเวทีเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเอง โดยยังแตะมือกับอเมริกาและซีกตะวันตกเอาไว้ เห็นได้จากการเข้าร่วมโครงการ “เฉลียงเศรษฐกิจ อินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป” ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหภาพยุโรป

โดยมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ และประกาศโครงการนี้ในการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศหรือจี 20 ที่อินเดียเมื่อต้นเดือนกันยายน คล้อยหลังการประชุม BRICS

โครงการเฉลียงเศรษฐกิจดังกล่าว จะเป็นเครือข่ายขนส่งที่เชื่อมอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งถือเป็นการท้าทายโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน