BRICS เล็งขยายสมาชิก เพิ่มหรือลดอำนาจในเวทีโลก ?

BRICS
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่แล้วกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว 5 ประเทศ หรือ BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จัดประชุมสุดยอดครั้งที่ 15 โดยมีแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ วาระเด่นของการประชุมครั้งนี้ก็คือ การขยายสมาชิก BRICS หลังจากมีหลายประเทศแสดงความสนใจอยากเข้าร่วม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ลดการพึ่งพา หรือลดอิทธิพลชาติตะวันตก หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และถูกชาติตะวันตกแซงก์ชั่นด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง

เจ้าภาพได้ออกหนังสือเชิญผู้นำจาก 67 ประเทศร่วมประชุม ทั้งจากแอฟริกา ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย แต่ไม่มีผู้นำคนใดจากชาติตะวันตกได้รับเชิญ ในขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ไม่ได้มาประชุมด้วยตัวเอง เนื่องจากอยู่ระหว่างถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับฐานอาชญากรสงคราม

ปัจจุบันมีมากกว่า 40 ประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS ในจำนวนนี้มี 23 ประเทศที่ได้ยื่นสมัครอย่างเป็นทางการแล้ว อาทิ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย

กุสตาโว เดอ คาร์วาลโฮ นักวิเคราะห์นโยบายและนักวิจัยอาวุโสสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งแอฟริกาใต้ (SAIIA) ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับสมาชิกใหม่ มากกว่าจะเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะรับใคร

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสมาชิกเดิมก็มีความเห็นแตกต่างกัน ว่าควรเพิ่มสมาชิกหรือไม่ ซึ่งโดยประวัติศาสตร์แล้ว อินเดียเป็นประเทศที่กังวลเรื่องการขยายสมาชิกมากที่สุด เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเครื่องมือเพิ่มอำนาจให้กับจีนใน BRICS

ในปีที่ผ่านมา รัสเซียและจีนทำให้ BRICS มีภาพของการเป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตก เพราะต้องการหาแรงสนับสนุนในการท้าทายอำนาจของสหรัฐในการเมืองและระบบเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ได้ส่งสัญญาณว่าต้องการรักษาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตกเอาไว้ ซึ่งสะท้อนว่าสมาชิกแต่ละประเทศมีอิสระที่จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตน ทั้งด้านการทูตและการค้าระหว่างประเทศ

สตีเว่น กรัซด์ หัวหน้าโครงการด้านการทูตและธรรมาภิบาลของ SAIIA ชี้ว่า ปัจจุบัน BRICS เป็นคู่แข่งของกลุ่มจี-7 เรียบร้อยแล้ว กลายเป็นเสียงที่โดดเด่นและมีอิทธิพลของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยจี-7 เป็นกลุ่มของประเทศตะวันตกที่ร่ำรวย ส่วน BRICS ประกอบด้วย 2 ชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก รวมถึงบรรดาประเทศชั้นนำในทั้ง 3 ทวีป ทั้งสองกลุ่มต่างแสวงหาอิทธิพลและการสนับสนุนในเวทีโลก

“สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้เราได้เห็นโลกกำลังแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มสนับสนุนตะวันตก กลุ่มสนับสนุนรัสเซีย-จีน และกลุ่มที่เป็นกลาง การแบ่งแยกนี้จะดำเนินต่อไปและกว้างขึ้น เพราะกลุ่มที่เป็นกลางจะเจอแรงกดดันมหาศาลให้ไปอยู่กับขั้วหรือค่ายอื่น”

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า BRICS มีความซับซ้อนในตัวเอง เพราะรัสเซียก็ถูกตะวันตกโดดเดี่ยว ส่วนจีนและอินเดียก็มีข้อพิพาทชายแดน จีนเป็นคู่แข่งอเมริกา แต่อินเดียมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอเมริกา การตัดสินใจของพวกเขาในการรับสมาชิกใหม่ย่อมมีนัยยะสำคัญต่อโลก ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ที่ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกก็มีเหตุผลในการเข้าร่วมแตกต่างกันไป บางประเทศก็มีความสนใจเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่นต้องการ ร่วมใช้สกุลเงินที่สามารถท้าทายอำนาจดอลลาร์ บางประเทศก็เพียงอยากเข้าถึงตลาดจีน หรือ BRICS ได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น การตัดสินใจเพิ่มสมาชิก หรือเลือกสมาชิกใหม่ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของกลุ่ม หากเลือกอิหร่านเข้ามาก็เท่ากับว่า BRICS โน้มเอียงไปในทางต่อต้านตะวันตก

สมาชิกเดิมของ BRICS แต่ละประเทศมีเหตุผลแตกต่างกันไปเช่นกัน ว่าจะอนุญาตรับใครเข้ามาใหม่ กรณีของอินเดียอยู่ในสถานะยุ่งยาก เพราะมีข้อพิพาทชายแดนกับจีน แต่อินเดียเองก็โน้มไปทางอเมริกา เนื่องจากมีความวิตกกังวลร่วมกัน นั่นคือความแข็งกร้าวของจีน ดังนั้น การจะให้ BRICS มีภาพเป็นกลุ่มต่อต้านสหรัฐย่อมไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา

ส่วนบราซิลและแอฟริกาใต้นั้น แม้จะเปิดกว้างในการพร้อมรับสมาชิกใหม่ แต่ก็จะระมัดระวังมากขึ้นในการต้อนรับประเทศที่ต่อต้านอเมริกาอย่างเปิดเผย ดังนั้น บางทีการเพิ่มสมาชิกแทนที่จะเพิ่มความแข็งแกร่ง ก็อาจกลายเป็นทำให้เทอะทะ ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแต่ละประเทศมีจุดยืนแตกต่างกันมาก