ความ “เบ่งบาน” การค้าจีน-รัสเซีย นับจาก “สงครามยูเครน” ถึงปัจจุบัน

การค้าจีน-รัสเซีย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนและนำมาซึ่งมาตรการแซงก์ชั่นครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งชาติตะวันตกใช้ลงโทษรัสเซีย จนถูกเรียกว่าเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงในระดับ “นิวเคลียร์ทางการเงิน” อันทำให้รัสเซียต้องหันหน้าไปพึ่งพาจีนเป็นหลัก ก็ทำให้สายตาของทั้งโลกจับจ้องไปที่การเคลื่อนไหวของทั้งสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าจีนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียอย่างไร ความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

สัปดาห์ที่แล้ว “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมอีสเทิร์น อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในเมืองวลาดิวอสต็อก ของรัสเซีย อันเป็นเวทีระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนในตะวันออกไกลของรัสเซีย ตอนหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียในด้านเศรษฐกิจไปถึงระดับสูงมาก ๆ เรียกได้ว่ายอดเยี่ยม ส่วนความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงก็กำลังเบ่งบาน

“ความพยายามของตะวันตกในการจำกัดการพัฒนาของจีนล้มเหลว การพัฒนาของจีนเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและรุดหน้าไป ทำให้พวกเขาช็อก พวกเขาสายไปเสียแล้ว รถไฟออกจากสถานีแล้ว” ปูตินระบุ

สุนทรพจน์ของปูติน มีขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากค่าเงินรูเบิล อ่อนค่ารุนแรงทะลุ 100 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากฤทธิ์ของการแซงก์ชั่นจากชาติตะวันตก และค่าใช้จ่ายด้านสงครามที่สูงขึ้น ตลอดจนเงินเฟ้อสูง โดยปูตินหวังจะใช้โอกาสนี้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และยังระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะทำให้เศรษฐกิจเกิดข้อจำกัดเล็กน้อย แต่มีความสำคัญเพื่อควบคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อ

ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยซีเอ็นเอ็น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีน ที่รัสเซียระบุว่ายอดเยี่ยมนั้น พบว่าตามข้อมูลศุลกากรจีน ชี้ให้เห็นว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียเติบโต 40% แม้ว่าการค้ากับคู่ค้าอื่น ๆ ของทั้งสองประเทศชะลอลง ขณะที่ฝ่ายรัสเซียประเมินว่าการค้ากับจีนภายในปีนี้จะทะลุ 2 แสนล้านดอลลาร์

ณ เดือนกรกฎาคมปีนี้ จีนและอินเดีย เป็นตลาดส่งออกน้ำมันถึง 80% ของรัสเซีย คาดว่าน่าจะทำรายได้แก่รัสเซียประมาณ 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยที่ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันไปยังจีนรายใหญ่ที่สุดแซงซาอุดีอาระเบีย ในทางกลับกันรัสเซียต้องพึ่งพาสินค้าบริโภคจากจีนเป็นหลัก การซื้อสินค้าบริโภคจากจีนเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดย 7 เดือนแรกปีนี้รัสเซียกลายเป็นลูกค้ารถยนต์รายใหญ่สุดของจีน

ด้านสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของจีน (ซีเอเอเอ็ม) ระบุว่า การถูกตะวันตกแซงก์ชั่น ทำให้รัสเซียมีความต้องการรถยนต์จีนอย่างมาก โดย 7 เดือนแรก ปีนี้รัสเซียเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของจีน ส่งออกไปทั้งสิ้น 4.64 แสนคัน ตามด้วยเม็กซิโก อันดับ 2 จำนวน 2.24 แสนคัน จากเดิมในปีที่แล้ว เม็กซิโกเป็นตลาดอันดับ 1 และรัสเซียอันดับ 5 ซึ่งการส่งออกรถยนต์จีนไปยังรัสเซียจะยังอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ แต่หลังจากนั้นทางจีนมีแนวโน้มจะสร้างโรงงานผลิตในรัสเซีย

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ “ออโต สแตต” ระบุว่า ปัจจุบันรถยนต์นำเข้าจากจีนมีสัดส่วน 49% ในตลาดรัสเซีย เทียบกับช่วงก่อนสงครามที่มีเพียง 7% พร้อมกันนี้ บริษัทรถยนต์จีนยังประกอบรถยนต์ในรัสเซียด้วยการเทกโอเวอร์โรงงานของผู้ผลิตจากชาติตะวันตกที่ทิ้งร้างไว้

การถูกตัดขาดจากระบบการเงินโลก พร้อมกับที่ธนาคารชาติตะวันตกถอนตัวจากรัสเซีย จากธนาคารต่าง ๆ ของจีนได้เข้าไปให้บริการปล่อยกู้ในรัสเซียแทน ทั้งนี้ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 จนถึงเดือนมีนาคม 2023 สินทรัพย์ของธนาคารจีนในรัสเซียเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า ไปอยู่ที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์ ในจำนวน 4 ธนาคารใหญ่ของจีนที่สุดที่เข้าไปให้บริการในรัสเซียนั้น แบงก์ ออฟ ไชน่า และอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากที่สุด

นอกจากนั้น “หยวน” ก็เข้าไปทดแทนดอลลาร์และยูโร หลังจากรัสเซียถูกแซงก์ชั่นไม่ให้เข้าถึงสกุลเงินเหล่านี้ โดยตามรายงานของธนาคารกลางยุโรประบุว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่ารัสเซียได้ใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในการออกใบแจ้งหนี้และชำระเงินระหว่างประเทศ

ด้วยความช่วยเหลือเหล่านี้จากจีน ทำให้รัสเซียยังมีความสามารถในการทำสงครามในยูเครนต่อไป