แผนที่ขนส่งน้ำมันโลกเปลี่ยนไป เมื่อน้ำมันรัสเซียส่วนใหญ่ไหลสู่จีนและอินเดีย

น้ำมันรัสเซีย
REUTERS/ Tatiana Meel/ File Photo

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย ทำให้มีการขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปประเทศจีนและอินเดียมากขึ้น และน้ำมันส่วนใหญ่จากรัสเซียก็ไหลวนอยู่ในทวีปเอเชีย หน้าตาของแผนที่การขนส่งน้ำมันโลกจึงเหมือนถูกวาดขึ้นใหม่โดยปริยาย  

สำนักข่าว Bloomberg รายงานเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ว่า ข้อมูลจากการติดตามเรือขนส่งน้ำมันโดย Kpler บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลกพบว่า ในเดือนเมษายน 2566 จีนและอินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของทั้งสองประเทศ (จีนและอินเดีย) เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 12% ในเดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นเดือนที่รัสเซียบุกรุกรานยูเครนในช่วงปลายเดือน 

การที่ประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา ทำให้การส่งออกจากประเทศที่เป็นซัพพลายเออร์เดิมถูกบีบคั้นไปด้วย เห็นได้จากตัวเลขการขนส่งน้ำมันจากแอฟริกาตะวันตกและสหรัฐอเมริกาไปยังจีนและอินเดียที่ลดลงมากกว่า 40% และ 35% ตามลำดับ  

หวัง เหนิงชวาน (Wang Nengquan) อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทปิโตรเลียม Sinochem Energy Co. ที่ทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันมากว่า 30 ปีกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าผู้ซื้อชาวเอเชียเป็นผู้ชนะในสถานการณ์ที่น้ำมัน (รัสเซีย) มีราคาถูก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียซึ่งนำโดยอินเดียได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ซึ่งได้ช่วยให้รัฐบาลรัสเซียฟื้นฟูการส่งออกน้ำมันให้กลับสู่ภาวะปกติ

การเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาของแผนที่การไหลเวียนน้ำมัน ซึ่งมีอุปสงค์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นพยานของการหลั่งไหลของน้ำมันไปยังจีนและอินเดีย หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน ประเทศตะวันตกได้แบนการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากรัสเซีย และได้กำหนดกลไกจำกัดราคาน้ำมันรัสเซีย รัสเซียจึงต้องพยายามหาทางขายน้ำมันให้ประเทศอื่น ๆ แทนตลาดสำคัญอย่างยุโรป โดยลดราคาขายน้ำมันลงถูก ๆ 

กรอบการทำงานอันซับซ้อน ซึ่งสนับสนุนโดยเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นช่องทางจำกัดรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย ในขณะเดียวกันก็ปกป้องอุปทานของตลาดโลกด้วย 

อันเดรียส อีโคโนมู (Andreas Economou) บาสซัม ฟาตตูห์ (Bassam Fattouh) และอาห์เหม็ด เมห์ดี (Ahmed Mehdi) เขียนในรายงานการวิจัยของ Oxford Institute For Energy Studies หรือสถาบันออกซ์ฟอร์ดเพื่อการศึกษาพลังงานว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ภายในทวีปเอเชีย โดย 90% ไหลไปที่ประเทศจีนและอินเดีย 

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามคนกล่าวว่า แม้ว่ารัสเซียจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนเส้นทางการค้าน้ำมันจากยุโรปมายังเอเชียได้ แต่รัสเซียก็สูญเสียฐานลูกค้าเก่าไปเกือบทั้งหมด และในตอนนี้ เนื่องจากการส่งออกของรัสเซียในขณะนี้ที่ขึ้นอยู่กับไม่กี่ประเทศ โดยส่วนใหญ่คือจีนและอินเดีย ทำให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศเหล่านี้มีอำนาจทางตลาดเหนือน้ำมันของรัสเซียอย่างมหาศาล 

ระหว่างสองประเทศนี้ อินเดียมีความอยากซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่จีนซื้อน้ำมันรัสเซียมากขึ้นและซื้อน้ำมันของอิหร่านและเวเนซุเอลาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่วนลดที่สูงลิ่ว เนื่องจากอิหร่านและเวเนซุเอลาโดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรน้ำมันมาเป็นเวลานาน จึงต้องขายน้ำมันในราคาที่ถูกลง เช่นเดียวกันกับรัสเซียที่ต้องให้ส่วนลดราคาน้ำมันเพื่อให้ขายได้เมื่อโดนชาติตะวันตกคว่ำบาตร  

ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) แสดงให้เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกทำงานได้ตามที่ตะวันตกตั้งใจไว้ โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในเดือนมีนาคม 2566 สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่รายได้ลดลงเกือบครึ่งจากปีก่อนหน้า 

กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวถึงเรื่องนี้ในรายงานด้วยว่า แม้ว่าน้ำมันรัสเซียยังคงเคลื่อนไหวไปได้ แต่การกำหนดเพดานราคาน้ำมันก็ทำให้รายได้ของรัฐบาลรัสเซียลดลง  

“นโยบายการจำกัดราคาเป็นเครื่องมือใหม่ของ economic statecraft (การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการระหว่างประเทศ) … เพดานราคาน้ำมันนี้ได้ทำงาน เพื่อจำกัดขีดความสามารถของรัสเซียในการหากำไรจากสงคราม ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมเสถียรภาพในตลาดพลังงานโลก” รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุ  

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ ความจำเป็นที่รัฐบาลรัสเซียจะต้องพยายามปกป้องรักษาการขนส่งน้ำมันไปยังตลาดในเอเชียนั้น นำไปสู่การใช้เรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ปรากฏในระบบตรวจสอบเรือ (ที่เรียกว่า dark fleet tanker หรือกองเรือมืด) เพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่เวเนซุเอลาและอิหร่านทำมาก่อน ซึ่งเรือเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่นอกเหนือการควบคุมของชาติตะวันตก และเป็นเรือที่มีอายุมากแล้ว จึงทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยของคนทำงานและทรัพย์สินบนเรือด้วย