ความตึงเครียดทำ “จีน” เสียแชมป์ส่งสินค้าเข้าสหรัฐ

ท่าเรือสินค้า สหรัฐ
ท่าเรือขนส่งสินค้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Photo by Frederic J. BROWN / AFP)

ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีนคงกำลังเครียด เมื่อความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้จีนขายของให้สหรัฐได้น้อยลง แต่สหรัฐขายให้จีนได้เท่าเดิม

ข้อมูลการค้าของจีนและสหรัฐบ่งชี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ในปี 2023 จีนสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งสินค้าไปยังสหรัฐมากที่สุดที่ครองมานาน 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2022 เป็นผลมาจากความตึงเครียดระหว่างกันของสองประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายโดยตรง

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนลดลงมากกว่า 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) โดยจีนครองสัดส่วน 13.9% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนแบ่งที่ต่ำสุดนับในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ปี 2004 หลังจากที่เคยครองส่วนแบ่งสูงสุดมากกว่า 21% ในช่วงปี 2017

ตัวเลขการค้าบ่งชี้ว่า ความตึงเครียดระหว่างกันจะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่าที่ส่งผลต่อสหรัฐ เพราะในทางกลับกัน การส่งออกสินค้าของสหรัฐไปยังจีนในปี 2023 ยังคงทรงตัวพอ ๆ กับปีก่อนหน้า

เม็กซิโก เพื่อนบ้านของสหรัฐคือประเทศที่ได้รับอานิสงส์และก้าวขึ้นเป็นแชมป์แทนจีนในปีนี้ พร้อมสร้างสถิติมูลค่าการส่งสินค้าเข้าสหรัฐสูงสุด ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปีนับตั้งแต่ปี 2000 ที่เม็กซิโกได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าสหรัฐมากที่สุด

การนำเข้าของสหรัฐจากสหภาพยุโรปในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 ก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน แต่การนำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว แต่ยอดการนำเข้าก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอันดับ 2 สองเป็นประวัติการณ์ และส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐที่กลุ่มอาเซียนครองอยู่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงทศวรรษที่แล้ว

ADVERTISMENT

ส่วนญี่ปุ่นยังครองส่วนแบ่งในการนำเข้าของสหรัฐได้ไม่ถึง 5% แม้ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะช่วยเพิ่มมูลค่าการจัดส่งในรูปเงินเยนก็ตาม โดยส่วนแบ่งของญี่ปุ่นในตลาดสหรัฐลดลงมากกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2000 เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นเลือกขยายการผลิตในสหรัฐแทนที่จะผลิตในญี่ปุ่นแล้วส่งไปสหรัฐ

ชัดเจนว่าการที่จีนส่งสินค้าเข้าสหรัฐได้น้อยลง เป็นผลจากความตั้งใจของสหรัฐ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกระจายซัพพลายเออร์ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่สหรัฐเคยพึ่งพาจีน ซึ่งนโยบายของสหรัฐแสดงผลลัพธ์ให้เห็นอย่าง เช่น การนำเข้าสมาร์ทโฟนจากจีนลดลงประมาณ 10% ในขณะที่การนำเข้าจากอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า การนำเข้าคอมพิวเตอร์แล็ปทอปจากจีนลดลงประมาณ 30% แต่การนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากเวียดนาม

ADVERTISMENT

แนวโน้มนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการผลักดันของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ผ่านนโยบาย “friendshoring” ซึ่งหมายถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่เป็นมิตรกันเท่านั้น

นอกจากนั้น ฝ่ายบริหารของไบเดนยังคงเก็บภาษีสินค้าจีนมูลค่า 370,000 ล้านดอลลาร์ ตามที่อดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้กำหนดไว้ และสหรัฐกำลังจะมีมาตรการซ้ำเติมจีนอีก โดยขณะนี้ฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังพิจารณาขึ้นภาษีเพิ่มเติมสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า (EV) อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ และเซมิคอนดักเตอร์รุ่นที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินใจภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

แต่การกีดกันจีนของสหรัฐให้ผลลัพธ์อย่างที่สหรัฐต้องการจริงไหม ? ยังไม่ชัดเจน เพราะบริษัทจีนก็ได้แก้เกม-เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจกับสหรัฐ โดยหันไปลงทุนในเม็กซิโกมากขึ้น เพื่อที่จะส่งสินค้าเข้าสหรัฐได้อย่างไม่มีอุปสรรค อย่างเช่น บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า “ไฮเซ่นส์” (Hisense) เริ่มการผลิตในเม็กซิโกตั้งแต่ปี 2022 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ “เจ เอ ซี มอเตอร์ส” (JAC Motors) ได้ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในเม็กซิโกแล้ว และ “เอสเอไอซี มอเตอร์” (SIAC Motor) ก็วางแผนที่จะสร้างโรงงานในเม็กซิโกเช่นกัน

“นีลส์ เกรแฮม” (Niels Graham) จากสถาบันคลังสมอง “แอตแลนติก เคาน์ซิล” (Atlantic Council) ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การนำเข้าของสหรัฐจากประเทศอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น เม็กซิโก และเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็น “การขนถ่ายสินค้า” มากกว่าการผลิตในประเทศซึ่งรัฐบาลสหรัฐหวังว่าจะให้เป็น “friendshoring” การที่การลงทุนของจีนในเม็กซิโกกำลังเติบโตขึ้น แสดงว่าผู้ผลิตจากจีนกำลังตั้งโรงงานและร้านเพื่อประกอบขั้นสุดท้ายในเม็กซิโก

อีกความกังวลหนึ่งมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้แสดงความกังวลว่า ความเปลี่ยนแปลงในการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการที่สหรัฐเปลี่ยนมาผลิตสินค้าในประเทศที่ต้นทุนสูงกว่าจีน จะเป็นการดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น และจะสร้างความตึงเครียดในตลาดแรงงานมากขึ้น