ในวันที่ 22 มกราคม 2024 นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดียมีกำหนดการเดินทางไปทำพิธีเปิด-เสก “วัดพระราม” ที่เมืองอโยธยา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย โดยมีสมาชิกพรรคภารติยะชนตะ (BJP) และองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมพิธี และคาดว่าจะมีผู้ศรัทธาศาสนาฮินดูจากทั่วประเทศจำนวนมากไปรวมกันที่เมืองอโยธยา
วัดนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 35 ปี บนความขัดแย้งของคนร่วมชาติ-ต่างศาสนา ซึ่งการเป็นผู้ผลักดันการสร้างวัดนี้ให้สำเร็จ ทำให้พรรคภารติยะชนตะ (BJP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมฮินดูนิยมของโมดีมีชื่อเสียงและได้รับการสนับสนุนจากชาวฮินดูให้ขึ้นสู่อำนาจ
ดังนั้น การที่เขาเลือกทำพิธีเปิดวัด (ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ทุกส่วน) ในเวลานี้ ก่อนที่การเลือกตั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงถูกมองว่าเป็นการหาเสียงครั้งสำคัญของนายกฯโมดีและพรรคของเขา
วัดพระรามเป็นวัดที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมในประเทศอินเดีย เนื่องจากพื้นที่ตั้งของวัดพระรามเคยเป็นที่ตั้งมัสยิดบาบรี (Babri Masjid) ของชาวมุสลิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แต่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าพื้นที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของพระรามในรามายณะ หรือรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเทพองค์สำคัญของศาสนาฮินดู และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้นับถือศาสนาฮินดูมาก่อนที่ชาวมุสลิมจะรื้อวัดฮินดูลงเพื่อสร้างมัสยิดครอบทับบนพื้นที่ในปี 1528 ทั้งชาวฮินดูและชาวมุสลิมต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่นี้
ในปี 1984 พรรคภารติยะชนตะ (BJP) ของนายนเรนทรา โมดี ได้รณรงค์เพื่อรวบรวมเงินสร้างเทวสถานของพระรามขึ้นใหม่ บนพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมีส่วนช่วยให้พรรค BJP ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก
ต่อมาในปี 1992 องค์กรจัดตั้งของชาวฮินดูได้บุกเข้าทำลายมัสยิดของชาวมุสลิมลง ทำให้เกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน
ต่อมา ในปี 2019 ศาลฎีกาได้ตัดสินให้มอบที่ดินอันเป็นใจกลางของความขัดแย้งขนาดพื้นที่ 2.77 เอเคอร์ให้แก่ชาวฮินดู และสั่งให้แบ่งที่ดินแปลงอื่นขนาด 5 เอเคอร์ให้แก่ชาวมุสลิม โดยศาลอ้างหลักฐานจากกรมศิลปากรว่า ภายใต้มัสยิดมีโครงสร้างที่ไม่ใช่สถาปัตยกรรมของอิสลามอยู่ และอ้างบันทึกของคุรุนานัก ศาสดาของชาวสิกข์ ซึ่งบันทึกว่าได้เคยมาเยือนสถานที่แห่งนี้ในขณะที่เป็นเทวสถานของฮินดูด้วย
แม้ว่าชาวมุสลิมจะไม่พอใจกับคำตัดสินของศาล แต่พวกเขากล่าวว่าจะยอมรับในคำตัดสิน และ ณ ปี 2024 นี้พวกเขากล่าวว่า ชาวมุสลิมได้เดินหน้าต่อตามคำตัดสินไปแล้ว โดยกำลังสร้างมัสยิดแห่งใหม่บนพื้นที่ที่ได้รับการแบ่งสรรให้ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระรามเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร