หนุ่มสาวญี่ปุ่นนิยมทำงาน “ไม่ประจำ” ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ญี่ปุ่น หนุ่มสาว งาน
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย Kazuhiro NOGI / AFP)

ญี่ปุ่นประสบปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” อย่างหนักมาหลายปี สาเหตุหลักมาจากโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมสูงวัยมาก คนเกิดน้อย คนวัยทำงานมีน้อย คนสูงวัยมีมาก และปัญหานี้ส่อแววจะรุนแรงมากขึ้นเมื่ออัตราการเกิดของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะลดน้อยลงอีก และยังถูกซ้ำเติมด้วยค่านิยมในการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อน

ตามการรายงานของ “นิกเคอิ เอเชีย” เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคนทำงานรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นที่กำลังเลือกทำงานในตำแหน่งงานที่ “ไม่เต็มเวลา” เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาของการทำงานไม่ประจำ ซึ่งช่วยให้พวกเขามีเวลาได้ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจจริง ๆ

ในปี 2023 มีชาวญี่ปุ่นอายุ 25-34 ปี ที่ตั้งใจเข้าทำงานในตำแหน่งที่ “ไม่ประจำ” จำนวน 730,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง จาก 10 ปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน จำนวนคนที่รับทำงานตำแหน่งไม่ประจำด้วยความจำเป็น เนื่องจากหาตำแหน่ง “เต็มเวลา” ไม่ได้ก็ลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งทิศทางทั้งสองนี้สอดคล้องและสนับสนุนแนวโน้มที่ว่า ผู้คนตั้งใจมองหางาน “ไม่ประจำ” มากขึ้น ไม่ใช่ว่าทำงานไม่ประจำเพราะหางานประจำไม่ได้

ตามการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่น พบว่า ในปี 2023 มีคนญี่ปุ่นอายุ 25-34 ปี ที่ทำงาน “ไม่ประจำ” จำนวน 2.37 ล้านคน ลดลง 640,000 คน จากปี 2013 ผู้ที่ตอบแบบสำรวจว่า “ไม่สามารถหาตำแหน่งงานเต็มเวลาได้” มี 300,000 ตำแหน่ง ลดลง 540,000 ตำแหน่ง จากปี 2013 ในทางกลับกัน ผู้ที่บอกว่า “ต้องการทำงานในเวลาที่สะดวกสำหรับตนเอง” เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 21.3% ในปี 2013 เป็น 31.9% ในปี 2023

“มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่กำลังมองหาชีวิตที่เติมเต็มนอกเวลาทำงาน คุณค่าของงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป” ศาสตราจารย์ชินทาโร ยามากูจิ (Shintaro Yamaguchi) จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าว

นอกจากนั้นยังมีคนที่เลือกทำงานตำแหน่งที่ไม่ประจำ เพื่อดูแลลูกหรือพ่อแม่ที่สูงอายุด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสงสัยว่าบางคนก็อาจจะอยากทำงานประจำ หากเป็นไปได้

Advertisment

เมื่อพิจารณาจากทุกเจเนอเรชั่น จำนวนคนที่ “ทำงานไม่ประจำ” เนื่องจากไม่สามารถหาตำแหน่งงานเต็มเวลาได้ก็มีจำนวนน้อยลงเช่นกัน โดยมีจำนวน 1.96 ล้านคน ในปี 2023 ลดลง 1.45 ล้านคน หรือเกือบเท่าตัวจากปี 2013 นั่นเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ขาดแคลนตำแหน่งงานประจำ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของประเทศเมื่อปี 2011 ทำให้ญี่ปุ่นมีตำแหน่งงานมากกว่าคนทำงาน อัตราส่วนของตำแหน่งงานว่างต่อผู้หางานยังคงสูงกว่า 1 ต่อ 1 และอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นต่ำกว่า 4% มาตั้งแต่ปี 2014

Advertisment

อีกทั้งกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นก็ได้ผลักดันโดยให้เงินอุดหนุนให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งงานไปสู่ “ตำแหน่งเต็มเวลา” ด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าโครงการนี้ช่วยให้ผู้คนสามารถเปลี่ยนไปทำงานในตำแหน่งงานเต็มเวลาได้มากกว่า 780,000 คน ในช่วงปีงบประมาณ 2013 ถึงปีงบประมาณ 2022

แต่ภาพรวม จำนวนคนทำงาน “ไม่ประจำ” ทั้งหมดด้วยทุกเหตุผลในปี 2023 มี 21.24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.18 ล้านคน จากปี 2013 เนื่องจากการที่ผู้สูงอายุที่เลยวัยเกษียณแล้วยังคงทำงานอยู่ ซึ่งเป็นการจ้างงานลักษณะไม่ประจำ โดยผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ต้องการทำงานตามกำหนดเวลาที่ยืดหยุ่น มีจำนวน 1.45 ล้านคน ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 890,000 คน จากปี 2013

นอกจากญี่ปุ่นต้องรับมือปัญหาคนทำงานไม่เพียงพอกับงานแล้ว ด้วยแนวโน้มที่คนเลือกทำงานตำแหน่งไม่ประจำมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะต้องทบทวนข้อกำหนดของระบบประกันสังคมที่มีอยู่ใหม่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว คนที่ทำงานไม่ประจำจะได้รับรายได้น้อยกว่าพนักงานประจำถึง 30% ดังนั้น เงินสมทบที่พวกเขาส่งเข้าระบบประกันสังคมก็จะน้อยกว่าด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เงินบำนาญไม่พอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ