สูงวัยเคลื่อนเศรษฐกิจ บริษัทญี่ปุ่น 40% จ้างคนอายุ 70 ปี แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

บริษัทญี่ปุ่น 40% จ้างคนสูงวัย

ก่อนหน้านี้คำว่า “สูงวัย” มาพร้อมกับการเกษียณอายุจากการทำงาน แต่เมื่อโลกเราเข้าสู่ยุคที่คนสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คนวัยกำลังแรงงานลดน้อยลง คนสูงวัยจึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยขั้นหนักอย่างญี่ปุ่น 

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทในญี่ปุ่นกำลังพึ่งพาแรงงานสูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทดแทนคนวัยทำงานที่ขาดแคลน รวมถึงการหาแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานก็ยากและยังไม่เพียงพอ 

บริษัทญี่ปุ่นสัดส่วน 39% ของทั้งหมดมีการจ้างคนอายุ 70 ปี หรือมากกว่านั้นเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และบริษัทที่กำหนดอายุเกษียณที่ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนอยู่ที่ 25% เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเช่นกัน 

จากเดิมญี่ปุ่นกำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 64 ปี แล้วมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2013 ให้บริษัทต่าง ๆ จะต้องจ้างพนักงานจนถึงอายุ 65 ปี หากพนักงานเต็มใจ 

มาถึงตอนนี้ธุรกิจในญี่ปุ่นกำลังแข่งขันกันจ้างแรงงานสูงวัย เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้างและการค้าปลีก 

เมื่อปี 2022 ญี่ปุ่นมีประชากรวัยทำงานคิดเป็น 59% ของประชากร ลดลงจากสัดส่วน 68% ในปี 2000 เนื่องจากความยากลำบากในการหาแรงงานต่างชาติ และความยากในการทำงานของผู้หญิงที่มีลูกเล็ก ๆ ทำให้นายจ้างต้องพึ่งพาผู้สูงอายุเพื่อชดเชยจำนวนคนวัยกำลังแรงงาน (คนช่วงอายุ 15-64 ปี) ที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง 

ADVERTISMENT

เมื่อปี 2022 ในบรรดาผู้มีงานทำทั้งหมดในญี่ปุ่น เป็นคนอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 6.39 ล้านคน คิดเป็น 10.6% โดยอัตราส่วนของแรงงานสูงอายุอยู่ในระดับสูงในอุตสาหกรรมที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นวิกฤต ได้แก่ สัดส่วน 15% ในภาคการก่อสร้าง 15% ในภาคการพยาบาล มากกว่า 10% ในภาคการขนส่ง และประมาณ 30% ในภาคการขนส่ง (คนขับแท็กซี่และรถบัส) 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน ประเทศอื่นพึ่งพาแรงงานสูงวัยน้อยกว่าญี่ปุ่นมาก โดยสหรัฐอเมริกามีแรงงานอายุมากกว่า 65 ปีเป็นสัดส่วน 7% ส่วนในเยอรมนีมี 4%

ADVERTISMENT

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า บริษัทในญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่มีทางเลือก เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้การจ้างแรงงานต่างชาติทำได้ยากขึ้น 

ในด้านค่าแรง ถึงแม้ว่าความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานสูงอายุยังไม่เพิ่มขึ้นตาม อ้างอิงข้อมูลตามรายงานของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (2013-2022) ค่าจ้างเฉลี่ยของคนงานอายุ 65-69 ปี เพิ่มขึ้น 6% แต่สำหรับคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปค่าจ้างเฉลี่ยลดลง 9% แสดงให้เห็นว่า งานดี ๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับคนอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมักจะได้รับงานที่คนงานอายุน้อยไม่อยากทำ

ความท้าทายของการพึ่งพาแรงงานสูงวัย คือแรงงานสูงวัยมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ดังนั้น นายจ้างจึงจำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อรับรองความปลอดภัยของคนงานสูงวัย 

มีข้อมูลยืนยันว่าเมื่อจำนวนผู้สูงอายุในที่ทำงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อุบัติเหตุในที่ทำงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีตัวเลขระบุว่าอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนรวมประมาณ 38,000 ครั้ง ในปี 2022 เพิ่มขึ้น 26% จาก 5 ปีก่อนหน้านั้น และเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยการเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานโดยรวมถึง 3 เท่า