
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ
ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนจะเริ่มต้นปี 2024 ได้ค่อนข้างดี เมื่อทางการของจีนเปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2024 จีดีพีขยายตัวได้ถึง 5.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2023 สูงกว่าที่ตลาดคาดหมาย ที่ประเมินว่าน่าจะเติบโตเพียง 4.6% แต่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2023 ที่จีดีพีบวก 5.2% ก็ถือว่าขยายตัวเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่า เมื่อดูลึกเข้าไปในรายละเอียด ถือว่ามีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวตามเป้าหมายตลอดปีที่ 5% ได้หรือไม่ เนื่องจากจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วการดีดตัวของจีดีพีเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปี แต่เดือนที่ 3 คือมีนาคม ยอดขายค้าปลีกร่วงลงมาก ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมก็น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์
เสียวเจีย จื่อ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Credit Agricole ระบุว่า คงเป็นการยากที่ตลาดจะเชื่อว่าจีดีพีแข็งแกร่งเมื่อดูจากข้อมูลเดือนมีนาคม นอกจากนี้ เริ่มเกิดความกังวลว่า หากจีดีพียังสามารถขยายตัวได้เกิน 5% ในไตรมาสต่อไป บรรดาผู้วางนโยบายอาจขาดความกระตือรือร้นและมองไม่เห็นแรงกดดันที่จะผ่อนคลายนโยบายลงอีก
ถึงแม้ภาคการผลิตของจีนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้หลังจากโควิดเนื่องจากส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าภายในประเทศ แต่วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาด นอกจากนี้ ราคาหน้าโรงงาน (Factory Prices) ลดลงต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี เมื่อผนวกกับข้อมูลในภาพกว้างของไตรมาส 1 ปี 2024 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดลึกกว่าเดิม สะท้อนว่าความต้องการภายในประเทศอ่อนแอ และมีกำลังการผลิตส่วนเกินในบางอุตสาหกรรม
ข้อมูลไตรมาส 1 ที่ทางการจีนเผยออกมา ย้ำให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอทั่วถึง โดยผลผลิตปูนซีเมนต์ดิ่งลง 22% ในเดือนมีนาคม มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากธุรกิจที่อยู่อาศัยตกต่ำ ส่วนผลผลิตแผงวงจรรวมและยานพาหนะ ไฟฟ้า ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของจีนกลับพุ่งขึ้น 30% แต่การใช้จ่ายในร้านอาหารและยอดขายรถยนต์ยังคงอ่อนแอ
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่า ถึงแม้ว่าเป้าหมายเติบโต 5% มีความเป็นไปได้ แต่ก็เตือนบรรดาผู้วางนโยบายของจีนว่าควรทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่าย ซึ่งก็ต้องจับตาการประชุมคณะโปลิตบูโรของจีนที่มีอำนาจกำหนดนโยบายเศรษฐกิจปลายเดือนเมษายนนี้
ติง สวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนและเอเชียเหนือของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ระบุว่า จีดีพีที่แข็งแกร่งในไตรมาส 1 อาจทำให้บรรดาผู้วางนโยบายนิ่งนอนใจ โดยนอกจากอาจจะไม่กระตุ้นเพิ่มเติมแล้ว ก็อาจจะไม่ลงมือปฏิบัติตามมาตรการที่วางแผนไว้แล้ว เพราะไม่เห็นความจำเป็นก็ได้
ในอีกด้านหนึ่ง เงินหยวนที่อ่อนค่าเนื่องจากตลาดหุ้นที่ตกต่ำและเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา กระตุ้นให้ธุรกิจจีนกักตุนเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะคาดว่าเงินหยวนจะอ่อนลงไปอีก นำมาสู่วัฏจักรที่เป็นวังวน นั่นคือยิ่งทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีก ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว โดยบรรดาผู้ส่งออกจีนที่ค้าขายได้เงินดอลลาร์ไม่ยอมนำมาแลกเป็นเงินหยวน เพราะฝากไว้ในรูปดอลลาร์ได้ผลตอบแทนมากถึง 6% เทียบกับ 1.5% หากฝากในรูปเงินหยวน
อัลวิน ตัน หัวหน้านักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ชี้ว่าส่วนต่างที่มากของผลตอบแทนดอลลาร์กับหยวน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ส่งออกจีนไม่เต็มใจจะแลกดอลลาร์มาเป็นหยวน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า มีหนทางเดียวที่จะยับยั้งการกักตุนดอลลาร์และการอ่อนค่าของหยวน นั่นคือเฟดต้องลดดอกเบี้ยมาก ๆ หรือไม่เงินหยวนก็ต้องดิ่งลงไปจนถึงต่ำสุดเสียก่อน เชื่อว่าผู้ส่งออกจีนอาจรอให้เงินหยวนอ่อนค่าไปจนถึง 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ จึงจะนำดอลลาร์มาแลกเป็นหยวน เพื่อให้ได้กำไรอัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุดนั่นเอง เชื่อว่าผู้ส่งออกจะทำแบบนี้ไปอีกประมาณ 2 ไตรมาส
ทั้งนี้ หลังจากนักลงทุนต่างประเทศเริ่มถอนเงินลงทุนออกจากจีน ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงจาก 6.7 หยวนต่อดอลลาร์ในต้นปี 2023 เหลือเพียง 7.24 หยวนต่อดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือลดลง 5% และเฉพาะต้นปีนี้ถึงปัจจุบันอ่อนค่าไปแล้ว 1.9%