“บัฟเฟตต์” กับมุมมอง AI อุตสาหกรรมใหม่แห่งการ “หลอกลวง” ?

บัฟเฟตต์
A cutout picture of Berkshire Hathaway Chairman Warren Buffett welcomes shareholders to shop at the Pampered Chef booth at the Berkshire Hathaway Inc annual shareholders' meeting in Omaha, Nebraska, U.S. May 3, 2024. REUTERS/Scott Morgan
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น น่าตื่นตาตื่นใจ และถูกพูดถึงอย่างมากในแวดวงนักลงทุนแห่งวอลล์สตรีท เพราะเชื่อว่ามันคือเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกำไรมากขึ้นให้กับบริษัทต่าง ๆ ในอนาคต และถึงกับตั้งความหวังกันว่า AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก สร้างวัฏจักรใหม่ให้กับเศรษฐกิจ

ความหวังและความเห่อใน AI ส่งผลให้หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ของสหรัฐ อย่างเอ็นวิเดียและเมตา พุ่งทะยานอย่างมากในอัตรา 507 % และ 275% ตามลำดับตั้งแต่สิ้นปี 2022

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ผู้ก่อตั้ง เบิร์กเชียร์ แฮตอะเวย์ มหาเศรษฐีนักลงทุนระดับตำนาน กลับไม่มีความแน่ใจนักว่า AI จะให้ผลลัพธ์อย่างไร โดยเขาพูดประเด็นนี้ในการประชุมประจำปีของเบิร์กเชียร์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าท่ามกลางกระแสมาแรงของ AI หนีไม่พ้นที่เขาจะได้รับคำถามเรื่อง AI จากผู้ถือหุ้น

เป็นที่รู้กันว่า บัฟเฟตต์ มีหลักการลงทุนง่าย ๆ คือ จะไม่ลงทุนอะไรที่เขาไม่เข้าใจถ่องแท้ AI ก็เช่นกัน เขายอมรับว่าไม่คุ้นเคยกับ AI แต่คิดว่ามันมีศักยภาพมหาศาลทั้งด้านดีและด้านร้าย เขาพูดด้วยน้ำเสียงระมัดระวังว่าถึงแม้จะไม่เข้าใจมัน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญและการมีอยู่ของ AI

แต่หากจะให้พูดถึงศักยภาพด้านร้ายของมัน เขาพูดว่า “ถ้าคุณคิดเกี่ยวกับศักยภาพของมันในการหลอกลวงประชาชน…ถ้าผมสนใจการลงทุนเพื่อหลอกลวงผู้คน มันก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตตลอดกาล และมันก็เป็นไปได้”

ความหมายของบัฟเฟตต์ก็คือ AI นั้นมีความสามารถสร้างเนื้อหาเทียมขึ้นมาโดยเหมือนของจริงจนแยกไม่ออก ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ทำให้ผู้คนหลงเชื่อจนสูญเสียเงินทองทรัพย์สินที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันว่านักต้มตุ๋นใช้วิธี “โคลนนิ่ง” เสียง และเทคโนโลยี deep fake เพื่อสร้างวิดีโอและภาพเกี่ยวกับบุคคลเป้าหมายขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินหรือหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว

ADVERTISMENT

นักลงทุนระดับตำนาน ยังเปรียบเทียบว่า ในแง่ร้าย AI ก็อาจไม่ต่างจากระเบิดปรมาณู “ตอนที่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มันคือการปล่อยจีนี่ออกจากขวด และจีนี่ก็ทำบางอย่างที่เลวร้ายมากในระยะหลังนี้ พลังอำนาจของจีนี่ทำให้ผมกลัวแทบบ้า ผมไม่รู้วิธีที่จะนำจีนี่กลับมาเข้าขวด ซึ่ง AI ก็เป็นบางอย่างที่คล้ายกัน ส่วนหนึ่งของมันออกมาจากขวดแล้ว มันจะเปลี่ยนสังคมในอนาคตของเราหรือไม่ เราคงรู้ในภายหลัง”

อนึ่ง จีนี่เป็นตัวละครในวรรณกรรมเรื่อง “จีนี่ อินเดอะบ็อตเทิล” ประพันธ์โดย วิลเลียม เชคสเปียร์ ว่าด้วยเรื่องของชาวประมงยากจนที่ปล่อยยักษ์จีนี่ออกมาจากขวดวิเศษโดยบังเอิญ เขาหวังว่าจีนี่จะช่วยให้เขามีชีวิตที่ดี แต่กลับกลายเป็นว่าจีนี่จะกินเขาเป็นอาหาร

ADVERTISMENT

ในอีกด้านหนึ่ง ความบูมของ AI ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นจะทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าพุ่งขึ้น เนื่องจากลำพังพลังงานหมุนเวียนจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ จะทำให้แต่เดิมที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐแทบไม่เติบโตเลยเป็นเวลา 10 ปี ก็เชื่อว่าความต้องการไฟฟ้าจะเติบโตราว 20% ภายในปลายปี 2030

บทวิเคราะห์ของ เวลส์ ฟาร์โก ระบุว่า การเฟื่องฟูของ AI พร้อมด้วยการเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ตลอดจนการรณรงค์ให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าต้องรีบเตรียมความพร้อมในการจัดหาพลังงาน ทั้งนี้ลำพังความต้องการใช้พลังงานสำหรับ “ศูนย์ข้อมูล AI” ก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 323 เทราวัตต์ชั่วโมง (1 เทราวัตต์เท่ากับ 1,000 กิกะวัตต์) หรือมากกว่าความต้องการไฟฟ้าต่อปีของนิวยอร์กซิตี้ถึง 7 เท่า

ในขณะที่การประเมินของโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่าเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับศูนย์ข้อมูล AI ก็จะคิดเป็น 8% ของการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของสหรัฐภายในสิ้นทศวรรษนี้ และหากมีการขยายกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ต่อต้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลคัดค้าน