กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแจ้งผลการตัดสินใจคงสถานะเดิมเวียดนาม เศรษฐกิจไม่ใช่กลไกตลาด ส่งผลให้โทษทางภาษีเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามเหมือนเดิม ขณะที่ทางการเวียดนามแถลงเสียใจ นักวิเคราะห์มองผลลบความสัมพันธ์สองชาติ
วันที่ 3 สิงหาคม 2024 รอยเตอร์ รายงาน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น ว่าจะยังคงจัดให้เวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ใช่เศรษฐกิจกลไกตลาด (Non Market Economy หรือ NME) หลังจากได้พิจารณาทบทวนการยื่นขอเปลี่ยนแปลงสถานะจากเวียดนามมาเกือบ 1 ปี ด้านทางการเวียดนามออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจดังกล่าว แม้สหรัฐกำลังแสวงหาการสนับสนุนจากเวียดนามเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลจีน
เวียดนามต้องการสถานะอัพเกรดมานาน ซึ่งหากได้อัพเกรดแล้ว จะลดโทษทางภาษีที่ฝ่ายสหรัฐเรียกเก็บจากประเทศที่ไม่ใช่เศรษฐกิจกลไกตลาดที่รัฐเข้ามาบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ปัจจุบันมีเพียง 12 ประเทศที่ถูกสหรัฐจัดให้อยู่ในบัญชีเศรษฐกิจไม่ใช่กลไกตลาด รวมถึงจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือและอาเซอร์ไบจาน
หลังจากถูกคัดค้านจากผู้ผลิตเหล็ก ชาวประมงกุ้งแถบอ่าวทางใต้ของสหรัฐและเกษตรกรเลี้ยงผึ้ง รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ ฝ่ายคัดค้านระบุว่า เวียดนามกำลังถูกใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตจากบริษัทจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทจีนเหล่านี้ ต้องการหลีกเลี่ยงมาตรการของสหรัฐที่ควบคุมสินค้านำเข้าจากจีน แต่การเลื่อนสถานะเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากผู้ค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจอื่นๆบางกลุ่ม
“วันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศผลการตัดสินใจว่า เวียดนามจะยังคงถูกจัดเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่กลไกตลาด เพื่อวัตถุประสงค์ในการคำนวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนาม” กระทรวงพาณิชย์ประกาศในแถลงการณ์และจึงทำให้วิธีวิทยาที่ใช้ในการคำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนามยังคงเดิม
ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามระบุว่า การอัพเกรดเวียดนามจะเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงและยุติธรรม และว่า เวียดนามเสียใจ ทั้งๆที่เมื่อเร็วๆนี้เศรษฐกิจเวียดนามมีพัฒนาการเชิงบวกหลายอย่าง แต่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาก็ยังคงไม่รับรองเวียดนามในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจกลไกตลาด แม้ในเอกสาร 284 หน้าอธิบายการตัดสินใจคงสถานะเดิมไว้ด้วยว่า เวียดนามมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจ
นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลลบต่อความสัมพันธ์สหรัฐและเวียดนามในช่วงที่เวียดนามได้เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศแทนนายเหวียน ฝู จ่องที่ถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งคือนายโต เลิม ประธานาธิบดีเวียดนามคนปัจจุบัน นายแอดมุนด์ มาเลสกี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองและผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยดุ๊กวิเคราะห์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐและความสำเร็จของการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างสองประเทศ
นายเมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศูนย์นานาชาติและยุทธศาสตร์ศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ในกรุงวอชิงตันมองการตัดสินใจนี้ว่า ช่างน่าขัน เนื่องจากตลาดเวียดนามเสรีพอๆกับชาติอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี NME และเสริมว่า การตัดสินใจไม่อัพเกรดเวียดนามดูเหมือนไม่ถูกต้อง เมื่อพิจารณาจากการเยือนกรุงฮานอยเมื่อปีที่แล้วของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งผลการเยือนในครั้งนั้น สองฝ่ายยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม อีกทั้งนางเจเน็ต เยลเลน รมว.การคลังสหรัฐยังส่งเสริมเวียดนามในฐานะกลุ่มเพื่อนในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐหรือ “friend-shoring”
โฮซุก อี-มิกิยามะ ผู้อำนวยการศูนย์ยุโรปศึกษาด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมกล่าวว่า แม้ว่า รัฐบาลไบเดนตัดสินใจยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจเวียดนามแต่อาจเป็นชัยชนะที่ต้องแลกมา เนื่องจากอนาคตรัฐบาลสหรัฐภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์คว่ำการตัดสินใจอย่างแน่นอน
นาซัก นิกอักห์ตาร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่กับบริษัทกฎหมายไวลีย์ เรน กล่าวว่า การตัดสินใจไม่เปลี่ยนสถานะเวียดนามสะท้อนถึงหลักฐานที่มากพอแล้วจากกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐว่า เศรษฐกิจเวียดนามไม่ได้ปฏิรูปจนถึงระดับที่จะมารับประกันได้ว่าเป็นเศรษฐกิจกลไกตลาด “การปล่อยปละละเลยต่อการบิดเบือนข้อมูลในหลายเขตเศรษฐกิจชาติคู่ค้านั้นไม่ยุติธรรมและส่งผลร้ายต่อผลผระโยชน์สหรัฐ” อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์กล่าว