เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมา งัดสารพัดวิธีจนตรอก พยุงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

คนขับขี่ยานพาหนะรอคิวเติมน้ำมัน ในสถานการณ์ที่เชื้อเพลิงขาดแคลน นครย่างกุ้ง เมื่อ 14 สิงหาคม (เอเอฟพี)

แพ้ภัยตัวเองเพราะไร้ความสามารถในการบริหารประเทศไม่เกินจริง สำหรับรัฐบาลทหารเมียนมา แรงต่อต้านการรัฐประหารนำไปสู่สงครามกลางเมืองรอบทิศ การขาดแคลนเงินดอลลาร์ของรัฐบาลทำให้เกิดการควบคุมสกุลเงินจ๊าตที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออก

เท่านั้นไม่พอสารพัดกลยุทธ์ถูกงัดขึ้นมาใช้กับพลเมืองตัวเอง  หาทางให้ได้เงินมาเพิ่มในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศ  ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไม่มั่นคงมากขึ้น ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือมีการเผยแพร่ออกมาเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2021 เวิลด์แบงก์หรือ ธนาคารโลกคาดว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่มากกว่า 26% ในปีที่ผ่านมา

นักลงทุนย้ายหนี

เรดิโอ ฟรีเอเชีย (Radio Free Asia ) รายงานว่า ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารจุดชนวนการลงทุนต่างชาติย้ายหนีออกจากเมียนมา การลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาลดลง หากแสดงเป็นกราฟก็จะได้กราฟแนวลาดชัน ในช่วง 3 ปีครึ่ง บริษัทต่างๆ ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงจากการดำเนินงานในประเทศ ท่ามกลางสงครามกลางเมือง

เวิลด์แบงก์รายงานว่า เศรษฐกิจเมียนมาอยู่ในภาวะร่วงอย่างอิสระ นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หดลงเกือบ 20 % และ ในปี 2024 คาดการณ์จีดีพีโตราว 0.5-1% ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากความขัดแย้งเป็นวงกว้างและการบริหารผิดพลาดของรัฐบาลทหาร

นักลงทุนพากันหนีออกนอกประเทศ อ้างการเมืองไร้เสถียรภาพ เงินเฟ้อที่สูง ปัญหาความยากลำบากนานัปการ ความท้าทายในการได้วัตถุดิบ และอัตรากำลังคนที่ไม่เพียงพอ จึงลดบทบาทหรือออกจากเมียนมา หรือทั้งสองอย่าง

แถลงการณ์อย่างเป็นทางจากสำนักงานผู้อำนวยการการลงทุนและการบริหารบริษัทแห่งเมียนมา ( Myanmar’s Directorate of Investments and Company Administration) เผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 การลงทุนต่างชาติมีมูลค่า 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 5,000 ล้านบาท  เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงิน 2.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 98,000 ล้านบาท ที่ไหลเข้าเมียนมาในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2021 -2024 ตัวเลขเหล่านี้แสดงถึงจำนวนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการลงทุนจากต่างประเทศเพียงปีเดียวมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 128,000 ล้านบาทในปี 2020 สมัยออง ซาน ซู จี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือผู้นำในทางปฏิบัติของเมียนมา

ADVERTISMENT

บริษัทเซมบ์คอร์ป ( Sembcorp) ของสิงคโปร์ หนึ่งในบริษัทล่าสุดที่ลดการดำเนินงานในเมียนมาลงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม โดยประกาศปิดโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในเมืองมยินจาน ภูมิภาคมัณฑะเลย์เป็นการชั่วคราว โดยอ้างถึงข้อกังวลด้านความปลอดภัย  ในทำนองเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท ซีเจ ฟีด เมียนมา (CJ Feed Myanmar) จากเกาหลีใต้ได้ประกาศระงับการผลิตและการขายอาหารสัตว์ในโรงงานในเมืองที่ใหญ่ที่สุดอย่างย่างกุ้ง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ

การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตของรัฐบาลทหารทำให้เกิดความยากลำบากต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตเมื่อเทียบเงินดอลล่าร์นั้นไร้เสถียรภาพ เนื่องจากเงินเฟ้อ ธนาคารกลางควบคุมเงินดอลล่าร์ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 2,100 จ๊าตต่อดอลล่าร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาพม่า (Radio Free Asia Burmese) ระบุว่า รัฐบาลปราบปรามผู้แลกเปลี่ยนเงินจ๊าดในตลาดมืด เนื่องจากต้องการเงินตราต่างประเทศจากระบบธนาคารทางการกำหนดอย่างมาก ซึ่งประชาชนและบริษัทถูกบังคับให้แลกเงินดอลล่าร์เป็นเงินจ๊าตในอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำแสนต่ำ ตามเรตที่รัฐบาลทหารควบคุม ส่วนในภาคสถาบันการเงินที่ไม่เป็นทางการในเมียนมา หรือที่รู้จักกันว่า hundi นั้น 1 ดอลล่าร์สหรัฐมีค่ากว่า 6,000 จ๊าต

อัดฉีด 100 ล้านดอลล่าร์กู้วิกฤตเชื้อเพลิง

เอเอฟพี (AFP) รายงานว่า ธนาคารกลางในยุครัฐบาลทหารเมียนมาประกาศอัดฉีดเงิน 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 3,300 ล้านบาทให้แก่ภาคพลังงาน เพื่อช่วยผู้นำเข้าซื้อเชื้อเพลิงและน้ำมัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับว่าจะให้เงินเมื่อไร หรือที่อัตราต่อดอลล่าร์เท่าไร ซึ่งขณะนี้ อัตราแลกเปลี่ยนทางการที่กำหนดโดยรัฐบาลทหารอยู่ที่ 2,100 จ๊าตต่อดอลล่าร์ แต่ ในตลาดมืดขายกันที่ราว 6,500 จ๊าตต่อดอลล่าร์สหรัฐ

ค่าเงินจ๊าตร่วงหนักเมื่อเทียบเงินดอลล่าร์ นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในปี 2021 ส่งต่อความสามารถของผู้นำเข้าที่จะจ่ายค่าขนส่งเชื้อเพลิง จึงได้เห็นชาวบ้านในนครย่างกุ้งเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อน้ำมัน บริเวณด้านนอกปั๊ม นอกจากนี้ภาวะขาดแคลนน้ำมันยังส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจร้านค้าที่พึ่งพาเครื่องปั่นไฟในช่วงที่ไฟฟ้าดับในเมืองย่างกุ้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

รีดแรงงานในไทย

นิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า รัฐบาลต้องการให้แรงงานที่ทำงานในต่างประเทศซึ่งมีอยู่กว่า 2 ล้านคนส่งเงินกลับบ้านผ่านช่องทางราชการมากขึ้นรัฐบาลทหารเมียนมา โดยเพิ่มการตรวจสอบบริษัทนายหน้า 580 แห่งของประเทศอย่างเข้มข้น เพื่อหาเงินมาเพิ่มในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ แก้ปัญหาการขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ตามคำสั่งลงวันที่ 12 สิงหาคม กระทรวงแรงงานเมียนมาสั่งให้บริษัทจัดหางานส่งหลักฐานการโอนเงินของคนงานในต่างประเทศด้วยตนเองไปยังสำนักงานใหญ่ในกรุงเนปยีดอว์ และเตือนว่าหากไม่ปฏิบัติตาม อาจทำให้ต้องหยุดการดำเนินงาน เพื่อรับประกันว่า คนงานกว่า 2 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศโอนเงินอย่างน้อย 25% ของรายได้ต่างประเทศให้ครอบครัวผ่านระบบธนาคารหรือช่องทางที่ได้รับอนุญาตจากทางการตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยทางการเพื่อทางการนั่นเอง หากไม่ปฏิบัติตามจะส่งผลให้ถูกห้ามทำงานในต่างประเทศเป็นเวลาสามปี เมื่อใบอนุญาตปัจจุบันหมดอายุ

แรงงานข้ามชาติจำนวนมากลังเลที่จะใช้ช่องทางการธนาคารอย่างเป็นทางการเพื่อส่งเงินเดือนกลับบ้านเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารที่ทางการกำหนดไว้ที่ 4,150 จ๊าตต่อดอลลาร์ ในขณะที่อัตราตลาดอยู่ที่ประมาณ 6,000 จ๊าตต่อดอลลาร์ ส่วนมาตรการที่ใช้ในปัจจุบัน กระทรวงฯกำหนดให้หน่วยงานที่ส่งคนงานไปประเทศไทยและมาเลเซียส่งหลักฐานการโอนเงินเป็นเวลา 4 เดือนตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2023ิ

กลับไปยากจน

รัฐบาลทหารได้ทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สะสมมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ระหว่างปี 2011 ถึง 2019 เศรษฐกิจของเมียนมาเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ทำให้เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค อัตราความยากจนลดลงจาก 49% ในปี 2005 เหลือ 25% ในปี 2017

เรดิโอ ฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) ระบุว่า ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2021 เมื่อจีดีพีหด 18 % แต่ยังคงลดลง 12 % นับตั้งแต่การรัฐประหาร ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโต 0.5- 1% ในปี 2024 ก็ดูเหมือนจะเกินเอื้อมเสียด้วยซ้ำ กองทัพลากประเทศกลับเข้าสู่ความยากจนอีกครั้งด้วยด้วยความไร้ความสามารถของตัวเอง ปัจจุบัน ประชากรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 55 ล้านคนได้กลับเข้าสู่ความยากจนอีกครั้ง

รายงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ล่าสุดนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า โดยอ้างอิงการสัมภาษณ์ภาคสนามที่พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 49.7 % ใช้ชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 76 เซ็นต์สหรัฐต่อวัน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2017 UNDP ระบุว่าชนชั้นกลางในเขตเมืองลดลง 50 % นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงมากที่มากกว่า 18 % แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 29 % ในกลางปี ​​2023 ตามข้อมูลของธนาคารโลก ราคาอาหารเพิ่มขึ้นสามเท่านับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดยข้าวเพิ่มขึ้นจาก 60,000 จ๊าตต่อกิโลกรัมเป็น 180,000 จ๊าตต่อกิโลกรัม และจากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่าบริษัทต่างๆ ดำเนินงานด้วยกำลังการผลิต 56% ในปี 2023 ซึ่งลดลง 16% จากปี 2022 ส่งผลให้รายรับจากภาษีลดลง