ทำไมการเสียชีวิตของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ จุดชนวนประท้วงใหญ่ในสหรัฐ

REUTERS/Kyle Grillot

เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่า ชาวอเมริกันหลายพันคนแห่ลงถนนเพื่อประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ มีไม่น้อยที่ไม่เคยเข้าร่วมการประท้วงมาก่อนในชีวิต เหตุใดโศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงกระทบความรู้สึกผู้คนจำนวนมาก

“จอร์จ ฟลอยด์” ไม่ใช่ชาวอเมริกัน-แอฟริกัน คนแรกที่ เสียชีวิตด้วยน้ำมือของตำรวจ จนนำไปสู่การประท้วง เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการชุมนุมและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังการเสียชีวิตของทาเมียร์ ไรซ์, ไมเคิล บราวน์ และ อิริค การ์เนอร์

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ เนื่องจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์มีความต่อเนื่องและเป็นวงกว้าง โดยมีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ ทั้งใน 50 รัฐ รวมถึงที่กรุงวอชิงตันดีซี ทั้งในเมืองใหญ่และในชนบท ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนขาว

รัฐบาลท้องถิ่นและภาคธุรกิจพร้อมใจกันยืนหยัดต่อเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะสภาเมืองมินนิแอโพลิสที่ถึงกับจะยุบสำนักงานตำรวจ

การประท้วงภายใต้สโลแกน Black Lives Matter ในเวลานี้ ดูเหมือนจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เนื่องจากมีคนขาวและคนชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“มีหลายปัจจัยที่นำไปสู่ความไม่สงบจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์” แฟรงก์ ลีออน โรเบิร์ต นักเคลื่อนไหวที่สอนหลักสูตรการเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

การเสียชีวิตของฟลอยด์น่าสยดสยองและเป็นที่ประจักษ์

“เดเรค ชอวิน” นายตำรวจที่ก่อเหตุ ได้ใช้เข่ากดลงที่คอของฟลอยด์นาน 9 นาที แม้ว่าฟลอยด์จะพูดว่า “ผมหายใจไม่ออก” ก่อนจะแน่นิ่งไป เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกอย่างชัดเจนลงในวิดีโอ

โรเบิร์ต แสดงความเห็นว่า เหตุตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนก่อนหน้านี้ค่อนข้างคลุมเครือ บางเหตุการณ์ไม่มีวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด หรือไม่ตำรวจก็อ้างว่าก่อเหตุเพราะเกรงจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

“แต่เหตุการณ์นี้ชัดเจนว่าไม่ยุติธรรม จากคลิปจะเห็นว่าฟลอยด์ไม่มีอาวุธใด ๆ และไม่สามารถตอบโต้ได้”

ผู้ประท้วงที่เพิ่งเข้าร่วมการประท้วงครั้งแรก มองว่าการเสียชีวิตของฟลอยด์ทำให้พวกเขาทนอยู่เฉย ๆ ที่บ้าน ไม่ได้อีกต่อไป

“ซารินา เลครอย” ผู้ประท้วงจากรัฐแมรีแลนด์ บอกว่า ยังมีอีกหลายร้อยชีวิตที่จากไปโดยไม่มีวิดีโอเป็นหลักฐาน แต่ความน่าสยดสยองและความเกลียดชังที่ปรากฏชัดเจนในวิดีโอนี้ได้ปลุกให้ผู้คนตื่นขึ้นมา

เช่นเดียวกับ “เวงเฟย โฮ” ที่กล่าวว่า เธอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter อยู่แล้ว แต่การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” กระตุ้นให้เธอออกมาประท้วงเป็นครั้งแรก

“เหตุการณ์นี้กระตุ้นความรู้สึกของฉันอย่างมาก และการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในเวลานี้”

เหตุเกิดในช่วงโควิดระบาดและการว่างงานสูง

“โรเบิร์ต” กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงเมื่อมีการรวมพลังอย่างไม่คาดฝัน

การเสียชีวิตของฟลอยด์เกิดขึ้นในช่วงกลางของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ชาวอเมริกันต้องอยู่แต่ในบ้านและทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มระดับสูงสุด นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษ 1930

“ทั้งประเทศกำลังล็อกดาวน์ เลยทำให้มีคนดูโทรทัศน์มากขึ้น พวกเขาถูกบังคับให้ต้องสนใจเหตุการณ์นี้ พวกเขาไม่สามารถเบือนหน้าหนีจากเรื่องนี้ได้”

เขาอธิบายอีกว่า การระบาดของโควิดได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงาน และทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากที่อยู่แต่ในบ้านถามตัวเองว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่พวกเขาไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป

ขณะที่ในทางปฏิบัติ ระดับการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 13% หมายความว่ามีคนมากกว่าปกติที่สามารถออกมาประท้วงและรณรงค์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการทำงาน

ฟางเส้นสุดท้าย

การเสียชีวิตของฟลอยด์เกิดขึ้นไม่นานหลังการเสียชีวิตของ “อาห์มูด อาร์เบอรี” และ “บรีโอนา เทย์เลอร์”

“อาร์เบอรี” อายุ 25 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ระหว่างกำลังวิ่งออกกำลังกายในรัฐจอร์เจีย หลังจากชาวบ้านบอกตำรวจว่าเขามีลักษณะคล้ายผู้ต้องสงสัยข้อหาลักทรัพย์ ส่วน “เทย์เลอร์” อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถูกยิงถึง 8 ครั้ง ระหว่างที่ตำรวจบุกเข้าไปในแฟลตของเธอในรัฐเคนตักกี้

ชื่อของทั้งคู่ปรากฏในใบปลิวระหว่างการประท้วงกรณีของฟลอยด์ บางครั้งผู้ประท้วงยังตะโกนชื่อของทั้งคู่ระหว่างการชุมนุมด้วย

“โรเบิร์ต” ชี้ว่า การเสียชีวิตของฟลอยด์เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายสำหรับหลายชุมชน ประกอบกับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งผู้คนต้องการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงปีนี้ยังเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่านักการเมืองมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจและตอบสนองต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง

การประท้วงครั้งนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่าครั้งใด

แม้จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อชาติของกลุ่มผู้ประท้วง แต่ดูเหมือนว่าผู้ประท้วงจำนวนมากจะไม่ใช่ชาวอเมริกัน-แอฟริกัน

เช่นในกรุงวอชิงตันดีซี ผู้ชุมนุมนับหมื่นที่ไปรวมตัวกันตามถนนเมื่อวันเสาร์ ประมาณครึ่งหนึ่งไม่ใช่คนผิวดำ ผู้ประท้วงจำนวนมากยังเขียนความต้องการอื่น ๆ ของตัวเองลงใบปลิว แล้วนำมาร่วมการประท้วงด้วย

โรเบิร์ต กล่าวว่า การเคลื่อนไหว Black Lives Matter มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แม้ว่าคนขาวในสหรัฐฯ จะไม่ค่อยพูดคุยเรื่องเชื้อชาติกัน

“มันชวนอึดอัด และพวกเขาคิดว่าบทสนทนาที่เกี่ยวกับเชื้อชาติถือเป็นการโจมตีการมีอยู่ของพวกเขา หรือไม่ก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขาเห็นคนขาวออกมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น และรู้สึกสะดวกใจมากกว่าจะรู้สึกอึดอัด

นอกจากการชุมนุมตามเมืองใหญ่ ๆ ยังมีการประท้วงในเมืองเล็ก ๆ ด้วย ซึ่งรวมถึงเมืองแอนนา รัฐอิลลินอยส์ หนึ่งในเมืองที่ได้ชื่อว่ามีการแบ่งแยกเชื้อชาติมากที่สุด รวมถึงที่เมืองวิเดอร์ รัฐเท็กซัส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มคูคลักซ์แคลน ซึ่งสนับสนุนแนวคิดบูชาคนขาวอย่างสุดโต่ง

“จูดี้ มูลเลอร์” นักข่าวสาว เขียนบทความที่ชื่อว่า เมืองเล็กๆ สีขาวของฉันเพิ่งจัดการประท้วง เราไม่ได้เดียวดาย” ใจความตอนหนึ่งระบุว่า เธอประหลาดใจอย่างมากที่เห็นคนประมาณ 40 คน ในเมืองนอร์วู้ด รัฐโคโลราโด มาร่วมชุมนุม โดยผู้จัดการชุมนุมบอกว่า การสนับสนุนตำรวจและการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ไม่ใช่สิทธิ์เฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่ “แคนดี้ มีแฮน” คณะกรรมการประจำเมือง กล่าวว่า เธอไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องการเมือง ผิดก็คือผิด

นักเคลื่อนไหวผิวดำให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

“อิริค วู้ด” ชาวดีซีผิวดำ กล่าวว่า เขาเข้าร่วมการประท้วงหลังการเสียชีวิตของ “เทรย์วอน มาร์ติน” เมื่อปี 2555 และการเสียชีวิตของ “เทย์เลอร์” ในปีก่อนหน้านั้น แต่การประท้วงครั้งนี้ เขาคิดว่าอาจจะเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด

“ชาวอเมริกัน-แอฟริกัน และชนกลุ่มน้อยประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติมานานหลายปีแล้ว เสียงของพวกเราไม่ทรงพลังมากพอ หากเราไม่สามารถดึงคนขาวมาเข้าร่วมได้”

ด้าน “โรเบิร์ต” กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์จะเห็นว่า คนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงคือคนที่ได้รับประโยชน์จากระบบ”

การกระทำของตำรวจมีผลหรือไม่

การประท้วงทั่วสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ และบางครั้งตำรวจท้องถิ่นเองก็ให้การสนับสนุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีการเผชิญหน้าและการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจอยู่บ้าง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจบังคับให้ผู้ประท้วงออกไปจากจัตุรัสด้านหน้าทำเนียบขาว หลังจากนั้นไม่นานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ข้ามถนนไปถ่ายรูปบริเวณด้านหน้าโบสถ์

ผู้สื่อข่าวนับสิบคนที่รายงานข่าวการประท้วงระบุว่า พวกเขาตกเป็นเป้าแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และ สเปรย์พริกไทยจากกองกำลังความมั่นคง

ส่วนผู้ประท้วงบางคนออกมาร่วมชุมนุมเพราะรู้สึกว่าตำรวจใช้กำลังมากเกินไป

“เบน ลองเวล” และ “จัสติน ซัมเมอร์” กล่าวว่า พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่ตัดสินใจร่วมการประท้วงในดีซี แม้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำได้ยากลำบาก เพราะไม่พอใจการกระทำของตำรวจ

“ลองเวล” กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่รู้สึกกลัวตำรวจ

ขณะที่ “ซัมเมอร์” บอกว่า เธอไม่ได้วางแผนจะร่วมการประท้วง แต่เมื่อเธอได้ยินเรื่องตำรวจใช้ความรุนแรง เธอจึงตัดสินใจร่วมชุมนุม

ผลสำรวจความเห็นของซีเอ็นเอ็น ชี้ว่า ชาวอเมริกัน 84% รู้สึกว่าการประท้วงอย่างสงบเพื่อตอบโต้ความรุนแรงจากตำรวจที่กระทำต่อชาวอเมริกัน-แอฟริกันนั้น มีความชอบธรรม ขณะที่ 27% มองว่าการประท้วงที่รุนแรงก็ชอบธรรมเหมือนกัน

โรเบิร์ต กล่าวว่า ในความเป็นจริง เราไม่ต้องการให้ใครบาดเจ็บ แต่เราก็รู้ว่าในแง่กลยุทธ์ทางการเมืองและสื่อ จะเป็นการดีกว่าหากสถานการณ์เลวร้ายลง นักเคลื่อนไหวจึงมักก่อความไม่สงบ เพราะเป็นที่จับจ้องของสื่อมากกว่า

การประท้วงนี้จะนำไปสู่อะไร

ผู้ประท้วงจำนวนมากเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรวมถึงการบังคับให้ตำรวจต้องติดตั้งกล้องบนหมวกตำรวจ รวมถึงการลดงบตำรวจ

“โรเบิร์ต” บอกว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่าการประท้วงครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองในยุค 1950 และ 1960 ซึ่งกินเวลานานกว่าทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีความหวัง โดยยกตัวอย่างกรณี “โรซ่า พาร์คส”

“โรซ่า พาร์คส” ถูกจับกุม หลังจากเธอปฏิเสธที่จะยกที่นั่งบนรถบัสของตัวเองให้กับชายผิวขาว เมื่อปี 2498 นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของมวลชน

ผู้ประท้วงรู้สึกว่าได้อยู่ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

“ลอร่า ฮอพแมน” กล่าวว่า พวกเรากำลังอยู่ในจุดที่สิ่งต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลง พร้อมกับกล่าวว่า เธอได้นำลูกชายอายุ 9 ขวบมารวมชุมนุมด้วย เพราะอยากให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นี้ ซึ่งได้สร้างจุดเปลี่ยนในชีวิตผู้คนมากมาย

ด้าน “ดีแลน เพแกรม” อายุ 10 ปี ซึ่งมาร่วมการชุมนุมกับพ่อ กล่าวว่า เขารู้สึกว่ามันค่อนข้างเครียด แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามันดี เพราะเราต้องการการเปลี่ยนแปลง