เปิดงานวิจัย “จำนวนประชากรโลก” ค.ศ. 2100 เตือนไทยอาจลดฮวบ 50%

AP Photo/Mahesh Kumar A

งานวิจัยเผยคาดการณ์จำนวนประชากรโลก นับจากปัจจุบันจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 จะพุ่งสูงสุดในปี 2064 ก่อนลดลงในที่สุดเมื่อถึงปี 2100 พลิกโฉมภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “เดอะแลนซิต” (The Lancet) วารสารทางการแพทย์ของสหราชอาณาจักรที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยใหม่ชี้ว่า จำนวนประชากรทั่วโลกกำลังจะลดลงเหลือเพียง 8,800 ล้านคนภายในปี 2100 จากจำนวนสูงที่สุดในปี 2064 ที่ 9,700 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

งานวิจัยระบุว่า จำนวนประชากรที่ลดลงเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงในหลายประเทศ เนื่องจากความก้าวหน้าของวิธีการคุมกำเนิด รวมถึงการเพิ่มจำนวนของสตรีและเด็กหญิงที่มีการศึกษาทั่วโลก เป็นแรงหนุนให้เสถียรภาพและอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรทั่วโลกลดลง

งานวิจัยยังคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดกว้างต่อการอพยพเข้าเมือง จะมีราว 183 จาก 195 ประเทศทั่วโลกที่ไม่สามารถรักษาจำนวนประชากรในระดับปัจจุบันไว้ได้ภายในศตวรรษนี้ โดยจำนวนประชากรใน 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย อิตาลี และสเปนคาดว่าจะลดระดับลงมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ขณะที่อีก 34 ประเทศอย่างจีนก็จะมีจำนวนประชากรลดลงกว่า 25%

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยคาดว่าจำนวนประชากรในประเทศภูมิภาคซับซาฮาราแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากระดับปัจจุบัน จาก 1,030 ล้านคนในปี 2017 เป็น 3,070 ล้านคนในปี 2100 เช่นเดียวกับประเทศในตะวันออกกลางที่คาดว่าจำนวนประชากรยังจะคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ริชาร์ด ฮอร์ตัน (Richard Horton) บรรณาธิการใหญ่ของเดอะแลนซิต ระบุว่า “การคาดการณ์อนาคตของงานวิจัยนี้มีความสำคัญที่เราต้องเร่งวางแผนรับมืออย่างเร่งด่วน งานวิจัยได้เสนอมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างรุนแรง ท้าทายความเชื่อเกี่ยวกับผู้อพยพ และเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องและเสริมสร้างสิทธิทางเพศและการสืบพันธุ์ของผู้หญิง”

“แอฟริกาและโลกอาหรับจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของเรา ขณะที่ยุโรปและเอเชียจะเสื่อมอิทธิพลลง โดยในปลายศตวรรษนี้จะมีหลายขั้วอำนาจทางการเมืองในโลก โดยมีอินเดีย ไนจีเรีย จีน และสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจ นี่เป็นโลกใบใหม่ที่แท้จริงและเราควรต้องเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่วันนี้” ฮอร์ตันกล่าว

งานวิจัยดังกล่าวยังได้ใช้ข้อมูลจาก “การศึกษาของภาระโรคในระดับโลก 2017” (Global Burden of Disease Study 2017) เตือนถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอายุของประชากรทั่วโลกครั้งใหญ่ โดยคาดว่า ประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 2 ต่อ 1 ภายในปี 2100

โดยจำนวนประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะลดลง 41% จาก 681 ล้านคนในปี 2017 เป็น 401 ล้านคนในปี 2100 ขณะที่คนอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเป็น 866 ล้านคนในปี 2100 จาก 141 ล้านคนในปี 2017

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่จำนวนประชากรวัยทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละประเทศและส่งผลต่อขนาดเศรษฐกิจด้วย โดยจีนคาดว่าจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐในฐานะประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2035

แต่สหรัฐอาจกลับมามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกครั้งในปี 2098 หากสามารถรักษาระดับการอพยพเข้าเมืองของแรงงานต่างชาติไว้ได้ ในขณะที่จำนวนประชากรจีนจะลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งปี 2050 เป็นต้นไป

ขณะที่ อินเดีย คาดว่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชีย ที่สามารถรักษาระดับประชากรวัยทำงานในประเทศไว้ได้ตลอดศตวรรษนี้ ซึ่งทำให้จีดีพีของอินเดียสามารถขึ้นมาเป็นลำดับที่ 3 ได้จากลำดับที่ 7 ในปัจจุบัน ส่วนไนจีเรียก็คาดว่าจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลกภายในปี 2100 และมีความสามารถที่ก้าวขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 9 จากลำดับที่ 23 ในปี 2017