กรุยทางสู่ ‘มหาอำนาจ’ เบื้องหลังจีนคุมบริษัทเทคยักษ์

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ปรากฏการณ์สำคัญในจีนเมื่อไม่นานมานี้ประการหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ ข่าวคราวการ “ลงดาบ” จัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และทำท่าว่าจะใหญ่อย่างไม่สิ้นสุด โดยกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังที่สุดก็คือ “แอนต์กรุ๊ป” ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค ในเครืออาลีบาบา ของ “แจ็ก หม่า” ผู้ยิ่งใหญ่ ถูกรัฐบาลสั่งเบรกการขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เมื่อปลายปีที่แล้ว แบบช็อกโลก เพราะไอพีโอของแอนต์กรุ๊ป ถือว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในโลก 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนจองซื้อกันถล่มทลาย

มีการคาดเดาต่าง ๆ นานาถึงเบื้องหลังที่ทำให้รัฐบาลจีน “สอย” แจ็ก หม่า บ้างก็ว่าเป็นเพราะเขาไปวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายควบคุมการเงินของรัฐบาลว่าเก่าแก่ล้าหลัง ไม่ยอมให้มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน บ้างก็ว่าเขาท้าทายอำนาจ “สี จิ้นผิง” และยิ่งลือหนักเข้าไปอีก เมื่อแจ็ก หม่า หายไปจากสายตาสาธารณชนกว่า 2 เดือน ขณะที่ภาครัฐก็กำลังดำเนินการสอบสวนอาลีบาบา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าประเด็นการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญให้แอนต์กรุ๊ป ถูกรัฐบาลจัดการ แต่ประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามในเชิงข้อเท็จจริงก็คือ รัฐบาลจีนกังวลว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาดในบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง อีกทั้งเป็นการเปิดให้ประชาชนกู้ยืมง่ายเกินไป ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาหนี้สิน

แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญบางคนมองลึกไปกว่านั้นโดยมองว่า การที่รัฐบาลจีนออกกฎระเบียบหลายอย่างเพื่อควบคุมดูแลบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ เป็นความพยายามครั้งใหญ่ที่จะทำให้จีนกลายเป็น “มหาอำนาจ” เทคโนโลยีระดับโลก นี่คือข้อสังเกตของ เคนดรา สแคฟเฟอร์ หุ้นส่วนบริษัทวิจัย Trivium China ในปักกิ่ง

สแคฟเฟอร์ชี้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนออกกฎระเบียบหลายอย่างเพื่อควบคุมจัดระเบียบภาคเทคโนโลยีซึ่งครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การปกป้องข้อมูลผู้ใช้บริการไปจนถึงต่อต้านการผูกขาด เพราะที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีจีนเติบโตอย่างมาก และส่วนใหญ่ไม่ถูกควบคุมโดยกฎระเบียบใดทั้งสิ้น ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยร่างกฎระเบียบที่ทยอยออกมาแล้วก็อย่างเช่น เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีนออกระเบียบว่าด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อวงเงินเล็ก ๆ หรือ microlending โดยมีการกำหนดเงินทุนขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่ประสงค์จะให้บริการปล่อยกู้ดังกล่าว

นอกจากนี้ก็มีกฎระเบียบเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมผูกขาดโดยแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ นับเป็นหนึ่งในกฎระเบียบที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุดในอันที่จะจัดระเบียบบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน “ผมคิดว่าจีนเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การจะกลายเป็นมหาอำนาจเทคโนโลยีของโลก จำเป็นต้องวางรากฐานกฎระเบียบที่แข็งแกร่ง คล้ายกับเป็นการวางกรอบทำงาน เป็นกระดานหกสำหรับจีนที่จะพัฒนาและเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น” สแคฟเฟอร์ระบุ

“เอมิลี เดอ ลา บรูแยร์” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา ฮอไรซอน แอดไวซอรี ชี้ว่า การที่รัฐบาลจีนเข้ามาจัดระเบียบควบคุมบริษัทเทคจีน ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องการทำตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามบริษัทเอกชน เพียงแต่ต้องการทำให้แน่ใจว่า บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้นที่ออกกฎควบคุมบริษัทเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง แต่สหภาพยุโรปก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ออกมาตรการแข็งกร้าวที่สุดในโลก กฎระเบียบปกป้องข้อมูลเป็นการทั่วไปได้รับอนุมัติเมื่อปี 2016 เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของบริษัทผู้ให้บริการนั้น ๆ นอกจากนั้นในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปออกกฎหมายว่าด้วยตลาดดิจิทัลและบริการดิจิทัล ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในหลายด้าน

แต่สำหรับอเมริกา ยังไม่มีมาตรการคล้ายคลึงกันนี้ในระดับกว้างเพื่อดูแลปัญหาการใช้ข้อมูล ดังนั้น จึงถือว่าอเมริกายังไม่ได้วางรากฐานด้านนี้ หากมีการวางรากฐานไว้ก็จะสามารถรับมือ หรือจัดการกับทั้งบริษัทในประเทศและต่างชาติ โดยไม่ต้องใช้วิธีประหลาด ๆ เพื่อควบคุมบริการจากต่างชาติ อย่างเช่น การควบคุมแอป TikTok จากจีน เมื่อเร็ว ๆ นี้