ทั่วโลกคุมเข้ม ‘คริปโทฯ’ หวั่นเป็นแหล่งฟอกเงิน

มูลค่าของ “คริปโทเคอร์เรนซี” อย่างบิตคอยน์ และอีเทอเรียม เพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนักลงทุนแห่ซื้อขายกันอย่างมากมาย

ขณะที่ต้นเดือนที่ผ่านมา “ตุรกี” ออกกฎหมายใหม่ แบนการชำระค่าสินค้าและบริการด้วย “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงตุรกีเท่านั้นที่ออกกฎหมายเข้าควบคุมคริปโทฯ แต่เป็นเทรนด์ของหลายประเทศที่กำลังร่างกฎหมายเพื่อเข้าควบคุมตลาดคริปโทฯ หรือได้ออกกฎหมายไปแล้ว หรือบางประเทศก็ออกกฎหมายให้คริปโทฯ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไปเลย

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า กระแสความร้อนแรงของคริปโทเคอร์เรนซีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นภัยต่อระบบการเงินของแต่ละประเทศอย่างมาก โดยการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านคริปโทฯ ทำให้ธนาคารกลางติดตามการทำธุรกรรมการเงินได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้อาจเข้ามามีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

และคริปโทเคอร์เรนซีมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย อย่างการฟอกเงิน และการหลีกเลี่ยงภาษี แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ทุกคนทราบถึง “มูลค่า” ต้นทาง และปลายทางการทำธุรกรรม แต่ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดถึงตัวตนคนทำธุรกรรมคือใคร

แม้ว่าการทำธุรกรรมผิดกฎหมายผ่านคริปโทฯ ปีที่แล้วมีเพียง 0.34% จากการทำธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่สูงถึง 2% แต่ปัจจัยทั้งด้านเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย ทำให้รัฐบาลทั่วโลกเดินหน้าร่างกฎหมายเพื่อเข้าควบคุมตลาดคริปโทฯ

ก่อนหน้านี้ ประเทศแอลจีเรีย, อียิปต์, โมร็อกโก, โบลิเวีย และเนปาล ได้ออกกฎหมายว่าการครอบครองคริปโทเคอร์เรนซี หรือการทำธุรกรรมการเงินผ่านคริปโทฯ “ผิดกฎหมาย” ส่วนบางประเทศออกกฎหมายไม่อนุญาตให้ธนาคารสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ ไนจีเรีย, แคนาดา, เอกวาดอร์, รัสเซีย, ซาอุฯกาตาร์, อิหร่าน, บังกลาเทศ, จีน, ไต้หวัน และกัมพูชา

ส่วนอินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้แบนการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ลักษณะเดียวกับกฎหมายของประเทศตุรกี

“เจซสี่ พาวเวลล์” ซีอีโอแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ “คราเคน” ซึ่งมีมูลค่าการทำธุรกรรมติดอันดับ 4 ของโลกระบุว่า ตอนนี้หลายประเทศกำลังมุ่งหน้าที่จะเข้าควบคุมตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อให้การถือครองหรือทำธุรกรรมมีกฎเกณฑ์มากขึ้น

อย่างประเทศ “อินเดีย” และ “ซาอุดีอาระเบีย” กำลังอยู่ในขั้นตอนออกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมาตรการสูงสุดอาจถึงขั้นที่ห้ามบุคคลในประเทศ “ถือ-ขุด-เทรด” หรือทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ที่เป็นคริปโทฯทั้งหมด

ขณะเดียวกัน “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งเคยโจมตีว่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบิตคอยน์ไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งฟอกเงิน โดยกำลังหารือกับคณะทีมงานเพื่อหาแนวทางควบคุมคริปโทฯ ก่อนที่จะให้คณะกรรมาธิการควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ออกมาตรการที่ชัดเจนต่อมา

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา “คริสตีน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป เคยกล่าวว่า คริปโทฯอย่างบิตคอยน์เป็นสินค้าเพื่อเก็งกำไร มักจะมีกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และกำลังอยู่ในขั้นพิจารณาถึงกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมตลาดคริปโทฯมากขึ้น

ในทางกลับกัน “จีน” ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ออกมาตรการเข้มงวดที่สุดในโลกกับตลาดคริปโทฯ อย่างการแบนไอซีโอ หรือการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน หรือที่เคยออกคำสั่งปิดแพลตฟอร์มเทรดดิ้งคริปโทฯของจีนเอง

ล่าสุด “ลี โบ” รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า ทางการจีนมองว่าแม้บิตคอยน์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ใช่ค่าเงิน แต่ก็เป็นเครื่องมือการลงทุนทางเลือกในรูปแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งกฎหมายเดิม เนื่องจากอาจสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ