เปิดเผยตัวเลข-สาเหตุ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี “พังทลาย”

สาเหตุคริปโทพังทลาย
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

วานนี้ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้ “พังทลาย” ลง มูลค่าเหรียญ “บิตคอยน์” ลงไปเกือบต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงถึง 30% และ “อีเทอร์” ลงไปต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงมากถึง 40%

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ตลาดสกุลเงินดิจิทัล หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ถือว่า “พังทลาย” โดยมูลค่าเหรียญ “บิตคอยน์” (Bitcoin) ลงไปเกือบต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งร่วงลงมากถึง 30% ขณะเดียวกัน “อีเทอร์” (Ether) ลงไปต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงมากถึง 40%

รายงานข่าวระบุ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มูลค่าลดลงมาก มาจากการออกกฏหมาย ซึ่งมุ่งเข้าควบคุมตลาดคริปโทฯ อย่างล่าสุดที่ประเทศจีนแบนสถาบันการเงิน-ชำระเงินออนไลน์ ไม่ให้บริการคริปโทฯ รวมถึงมีแนวโน้มในอนาคตที่หลายประเทศทั่วโลก จะออกกฏหมายเพื่อควบคุมตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ กระแสความร้อนแรงของคริปโทเคอร์เรนซี ได้เข้ามาเป็นภัยต่อระบบการเงินของแต่ละประเทศ โดยการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านคริปโทฯ ทำให้ธนาคารกลางติดตามการทำธุรกรรมการเงินได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้อาจเข้ามามีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน รวมทั้งเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

“ฮาร์ชิทะ ระวัต” นักวิเคราะห์วอลล์สตรีท เบิร์นสไตน์ ระบุว่า กฏหมายจากรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งมุ่งเข้าควบคุมคริปโทเคอร์เรนซี อาจจะทำให้มูลค่าและกิจกรรมการเทรดดิ้งคริปโทฯ ลดลง ส่วน “แกรี่ เกนสเลอร์” ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) เคยระบุว่า หน่วยกำกับดูแล ควรออกกฏหมายยุติธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ก็ควรปกป้องผู้บริโภค

โดยนอกจากจีนแล้ว ก่อนหน้านี้ ประเทศตุรกีออกกฎหมาย แบนการชำระค่าสินค้าและบริการด้วย “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างคริปโทเคอร์เรนซี ขณะที่เกาหลีใต้ออกกฏหมาย ให้แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือนจริง มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดบริการที่ประเทศเกาหลีใต้ต่อไปได้ และยังมี “อินเดีย” และ “ซาอุดิอาระเบีย” ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนออกกฎหมาย ซึ่งมาตรการสูงสุดอาจถึงขั้น ห้ามบุคคลในประเทศ “ถือ-ขุด-เทรด” หรือทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ที่เป็นคริปโทฯ ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน อีกสาเหตุที่ทำให้คริปโทฯ มูลค่าลดลง เนื่องจาก “สถาบัน” ซึ่งเป็นที่รู้จักระดับโลก เริ่มไม่สนับสนุนคริปโทเคอร์เรนซี อย่างกรณีที่ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ “เทสลา อิงค์” ก่อนหน้านี้เคยประกาศ ให้สามารถซื้อรถยนต์เทสลาด้วยบิตคอยน์ได้ แต่ตอนนี้ได้ระงับโครงการไปชั่วคราว โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ สถาบันการเงิน “เจพี มอร์แกน” รายงานว่า ตามสัญญาซื้อขายฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional investors) อย่างธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น ได้หนีบิตคอยน์ กลับไปซื้อทองคำแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่าบิตคอยน์ อาจจะเข้ามาแทนที่ทองคำได้

และการขยายตัวของคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง “ดอจคอยน์” ซึ่งตอนแรกถูกสร้างขึ้นมาเพราะเป็นมุขตลก แต่เริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาจทำให้ตลาดคริปโทฯ เสียความเชื่อมั่นมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองว่า คริปโทเคอร์เรนซีนั้น ตามกระแสซื้อ-ขาย และเก็งกำไรหุ้น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ สำหรับการนำมาใช้แทนการทำธุรกรรมทางการเงินจริง ๆ