งานวิจัยพบ ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

งานวิจัยจากอังกฤษระบุ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “ไฟเซอร์” เป็นโดสที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่ม กว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียว

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “ไฟเซอร์” เป็นโดสที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ในบุคคลเดียวกัน จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดีกว่าการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าอีกโดส

โดยงานวิจัยดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมการทดลอง 830 คน ซึ่งได้เว้นระยะเวลา 4 สัปดาห์ระหว่างสองโดส ซึ่งจากการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก และฉีดของไฟเซอร์เป็นโดสที่ 2 นั้น สร้างแอนตี้บอดี้ได้สูงกว่า การที่ฉีดไฟเซอร์ แล้วค่อยตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว สนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลบางประเทศในยุโรป ที่ฉีดวัคซีนสูตรอื่นนอกจากแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสที่ 2 แม้บุคคลนั้นจะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก โดย “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนีฉีดวัคซีน “โมเดอร์นา” เป็นโดสที่ 2 แม้จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก

อย่างไรก็ดี “แมททิว สเนป” อาจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งอยู่เบื้องหลังการทดลองดังกล่าว ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อาจสามารถฉีดวัคซีนทั้ง 2 โดสที่ไม่ใช่สูตรเดียวกันในบุคคลเดียวกันได้ แต่งานวิจัยดังกล่าว ไม่ได้มีข้อมูลมากพอที่จะสามารถ “แนะนำ” การฉีดวัคซีน 2 สูตรที่แตกต่างกันได้ในบุคคลเดียว

ทั้งนี้ เนื่องจากสหราชอาณาจักร (ยูเค) ยังคงมีวัคซีนที่เพียงพอ ทางการจึงยังไม่มีการเปลี่ยนกำหนดการสูตรวัคซีนที่จะฉีด และแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปรอฉีดโดสที่ 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ รวมถึงให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่านั้นรอ 12 สัปดาห์ โดยตอนนี้ผู้ใหญ่สหราชอาณาจักรกว่า 80% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่ 60% ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว