งานวิจัยชี้ วัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพต้านเดลต้า

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

รายงานการทดลองซึ่งถูกเผยแพร่โดยวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ระบุว่า เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้าครบโดสแล้ว มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ได้เกือบเทียบเท่ากับโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ข้อมูลจากการทดลองระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “ไฟเซอร์-ไบออนเทค” (Pfizer-BioNTech) และ “แอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด” (Oxford-AstraZeneca) เมื่อฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว มีประสิทธิภาพป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า ได้เกือบเทียบเท่ากับโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า

ทั้งนี้ รายงานการทดลองซึ่งถูกเผยแพร่โดยวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (NEJM) ระบุว่า เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคครบโดสแล้ว มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ 88% ขณะที่สามารถป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 93.7%

ขณะเดียวกัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ 67% ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการรายงานว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 60% ขณะที่สามารถป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 74.5%

โดยนักวิจัยจากหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษได้เขียนในรายงานการทดลองว่า ประสิทธิภาพวัคซีนระหว่างโควิดสายพันธุ์เดลต้า และโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย หลังจากทั่วโลกเป็นกังวลกับสายพันธุ์เดลต้า เนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาดที่รุนแรง และกำลังเป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลก