จับตาจีนใช้เกม “เทกโอเวอร์” แก้ปัญหาหนี้ “เอเวอร์แกรนด์”

จับชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนให้ระวังว่า ปัญหา “เอเวอร์แกรนด์” อาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็น “เลห์แมน โมเมนต์” เวอร์ชั่นจีนไปได้ในที่สุด

แต่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อีกไม่น้อย รวมทั้ง “ไซมอน แมคอดัม” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ที่ยืนยันว่า แม้จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน หรืออาจจะในโลกด้วยซ้ำไป แต่ “เอเวอร์แกรนด์” ก็ยังไม่ใหญ่โตพอที่จะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ลุกลามออกไปทั่วโลกเหมือน “วิกฤตซับไพรม์” ที่เกิดขึ้นจากเลห์แมน บราเธอร์สในอดีต

นอกจากนั้น หนี้ของเอเวอร์แกรนด์ยังเป็นหนี้ “ออนชอร์” จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศอีกด้วย

กระนั้นปัญหาหนี้มหาศาลของเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้เล็กน้อยชนิดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ เลยแน่นอน

“เจนนี เซิ่ง” นักวิเคราะห์ของอัลไลแอนซ์เบิร์นสไตน์ ระบุว่า นอกเหนือจากเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นนักลงทุน, ซัพพลายเออร์, และบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งหลายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ตอนนี้ยังมีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ได้ลุกลามออกไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในจีนแล้วด้วย

บริษัทที่ว่าเหล่านี้เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กของจีนที่กำลังเจอ “โดมิโนเอฟเฟ็กต์” จากปัญหายืดเยื้อของเอเวอร์แกรนด์ เริ่มมีปัญหาในการ “รีไฟแนนซ์” ในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) จนสภาพคล่องตึงตัวอย่างยิ่งชนิดที่หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกไม่นานบริษัทเหล่านี้อาจพังพาบลงก่อนเอเวอร์แกรนด์ด้วยซ้ำไป

ที่เป็นปัญหามากก็คือ บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทขนาดเล็กก็จริง แต่มีจำนวนไม่น้อยรวม ๆ กันแล้วคิดเป็นสัดส่วนราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวม

นั่นยิ่งทำให้โอกาสที่ปัญหาจะลุกลามออกไปสู่เศรษฐกิจจีนโดยรวมเป็นวงกว้างมีมากยิ่งขึ้น

คำเตือนที่ว่านี้มีขึ้นพร้อม ๆ กับที่สถานการณ์หนี้ของเอเวอร์แกรนด์หนักหนาสาหัสขึ้นตามลำดับ ซัพพลายเออร์เริ่มเข้ามาร่วมประท้วงกับนักลงทุน ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในนครเสิ่นเจิ้น ในขณะที่ราคาหุ้นเอเวอร์แกรนด์ในตลาดฮ่องกงรูดลงไปอีกเกือบ 18% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี

ว่ากันว่า ธนาคารจีนที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ๆ ถึงกับได้รับคำบอกว่า จะไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยจากเอเวอร์แกรนด์ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 21 กันยายนนี้แน่นอนแล้ว ในขณะเอเวอร์แกรนด์เองยังมีกำหนดต้องชำระดอกเบี้ยพันธบัตรอีก 84 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 23 กันยายนนี้อีกด้วย

พันธบัตรของเอเวอร์แกรนด์ถูกนำออกเร่ขายในราคา 20 เซนต์ต่อดอลลาร์ ในขณะที่พันธบัตรของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ของจีนถูกโก่งค่าตอบแทนขึ้นสุดกู่

ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในขณะที่บทบรรณาธิการของ “โกลบอลไทมส์” สื่อทางการจีนออกมายืนยันว่า เอเวอร์แกรนด์ไม่ได้ “ใหญ่โตจนล้มไม่ได้” เป็นการส่งสัญญาณชัดแจ้งว่า รัฐบาลจีนจะไม่เข้ามาอุ้มบริษัทโดยตรงอย่างที่คาดหวังกัน

พนักงานระดับผู้บริหาร 2 รายของเอเวอร์แกรนด์ บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ อย่างตรงไปตรงมาว่า ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ “ต้อง” หันหน้ามาร่วมมือกับเอเวอร์แกรนด์แก้ปัญหาครั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยการยืดกำหนดชำระหนี้ หรือด้วยการโรลโอเวอร์ก็ตาม เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น “เราตายได้ในทันที” และไม่มีใครรู้ว่า ความตายของเอเวอร์แกรนด์จะลุกลามออกไปขนาดไหน

ผู้บริหาร 2 รายที่ว่านี้ ให้ข้อมูลสำคัญที่ส่อให้เห็นถึงการเตรียมการจัดการกับปัญหานี้ของทางการจีนเอาไว้ว่า มีการเตรียมการเข้ามา “เทกโอเวอร์” ส่วนงานปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทเอเวอร์แกรนด์โดยรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจอสังหาฯ

แต่จะใช้เป็นทางออกสุดท้าย เมื่อไม่มีทางแก้ปัญหาอย่างอื่นแล้วเท่านั้น

แผนก็คือให้เป็นการดำเนินการแบบอยู่ในท้องที่ใคร รัฐบาลท้องถิ่นในท้องที่นั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบเข้า “เทกโอเวอร์” ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการละเอียดซับซ้อนขึ้น ชนิดที่ไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนในเวลานี้

โปรเจ็กต์นับพันแห่งที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัท จะถูกแยกไปตกอยู่ในมือของแต่ละมณฑลได้อย่างไร และจะรับมือกับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมหาศาลได้อย่างไร ? ยังคงเป็นที่กังขา

แต่ความเห็นนี้สอดคล้องกับแนวทางที่เกิดขึ้นในอดีตหมาด ๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่นกรณีของ “เอชเอ็นเอ กรุ๊ป” บริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวควบกับการบิน ที่ยื่นขอล้มละลายกับทางการมณฑลเหอหนาน

แล้วปัจจุบันนี้ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการเหอหนาน ทำหน้าที่ปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูกิจการ


ทั้ง ๆ ที่เอชเอ็นเอเป็นกิจการเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับเอเวอร์แกรนด์ !