เศรษฐกิจจีนเจอศึก 3 ด้าน ต้องดิ้นหาตัวขับเคลื่อนใหม่

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขยายตัวน่าผิดหวังเพียง 4.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ไตรมาส 2 เติบโตมากถึง 7.9% ซึ่งฝู หลิงฮุ่ย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ยอมรับว่าปัญหาท้าทายที่ทำให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นกำลังสูงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ยังไม่มั่นคงและไม่เท่ากัน

การเติบโตที่แผ่วลงอย่างหนักในไตรมาส 3 เกิดจากปัญหาหลัก 3 ด้านพร้อมกันคือ ปัญหาขาดแคลนพลังงาน ปัญหาความล่าช้าของการขนส่งทางเรือ และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มจากไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้

ไอริส ผาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็นจีกรุ๊ป ชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เพราะการดำเนินงานในท่าเรือบางแห่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ของทางการจีน ขณะเดียวกันการขาดแคลนพลังงานซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ลาร์รี หู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ แมคควอรี กรุ๊ป ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานมาก เช่น เหล็กและซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นพลังงาน ทางโฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติอ้างว่าจะเป็นปัญหาแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะควบคุมได้

ลูอิส คูอิจ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เห็นด้วยที่ว่า ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตจะบรรเทาลงในไตรมาส 4 เชื่อว่าบรรดาผู้วางนโยบายระดับสูงในจีนจะเริ่มหันมามุ่งเน้นการเติบโตของจีดีพี จึงคาดว่าจีนจะยืดหยุ่นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่แต่เดิมกำหนดจะบรรลุภายในปี 2060

ก่อนหน้านี้การใช้พลังงานฟอสซิลที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลจีนเข้มงวดการใช้พลังงานเพื่อหวังจะบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นำไปสู่การงดจ่ายไฟให้กับบางพื้นที่ หรือบางครั้งต้องปันส่วนการใช้ไฟฟ้า ทำให้โรงงานต่าง ๆ ต้องลดกำลังการผลิต

ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเป็นปัญหาระยะยาว หากเอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย จะทำให้นักลงทุนกลัว และหากบริษัทอสังหาฯอื่น ๆ มีท่าทีจะผิดนัดชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงิน เพราะภาคอสังหาฯและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนประมาณ 30% ของจีดีพีจีน ซึ่งปัญหานี้อาจกลายเป็นประเด็นหลักที่จะถูกจับตามองในปีหน้า และอาจเป็นอุปสรรคใหญ่สุดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีหน้า

นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ เห็นว่า ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง ราคาบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำลงจะทำร้ายเศรษฐกิจ เพราะความมั่งคั่งของคนจีนโดยทั่วไปประมาณ 80% เกิดจากการครอบครองบ้าน ถ้าราคาบ้านลดลง หมายถึงว่า การใช้จ่ายบริโภคจะลดตาม คนจะออมเงินมากขึ้น

เลแลนด์ มิลเลอร์ หัวหน้าผู้บริหารไชน่า เบจ บุ๊ก ระบุว่า ความเสี่ยงใหญ่ข้างหน้าก็คือ ถ้าหากทางการจีนตั้งใจจะเจาะยางภาคอสังหาริมทรัพย์ คำถามคือ จะหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ๆ อะไรมาเป็นฐานรองรับการเติบโต ที่ผ่านมาจีนประกาศจะใช้ภาคการบริโภคเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนส่งออก แต่ตอนนี้ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น จีนยังไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค

“การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น หรือสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพิ่มขึ้น จะช่วยเพิ่มการบริโภคได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีอยู่เลยในจีน ดังนั้นในตอนนี้มันเป็นแค่เป้าหมาย แต่ไม่ได้ลงมือทำ”

แม้จะเผชิญศึก 3 ด้าน และจีดีพีไตรมาส 3 โตต่ำมาก แต่ทางการจีนยังมั่นใจว่าโดยรวมแล้วทั้งปีจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ระดับมากกว่า 6% โดยอ้างว่ามีความสามารถและเงื่อนไขที่จะผลักดันจีดีพีให้เป็นไปตามเป้า ทั้งนี้ 3 ไตรมาสของปีนี้ จีดีพีเติบโตรวม 9.8%