WHO เตือนโอไมครอนก่อความเสี่ยงสูงทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกเตือนโอไมครอนทำโลกเสี่ยงสูง
REUTERS/Loren Elliott

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือน โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่งค้นพบล่าสุดนั้น ก่อความเสี่ยงสูงทั่วโลก แนะใช้แนวทางยึดตามความเสี่ยงปรับมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศให้ทันท่วงที

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 WHO เผยแพร่เอกสารทางเทคนิกที่เกี่ยวกับโอไมครอน ระบุว่า ความเสี่ยงทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล “โอไมครอน” ได้รับการประเมินว่าสูงมาก จากการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้มีศักยภาพในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และอาจมีความได้เปรียบในการแพร่เชื้อ โอกาสที่โอไมครอนจะแพร่ระบาดต่อไปในระดับโลกจึงมีสูง

ในเอกสารดังกล่าว WHO ยังประเมินความเสี่ยงของโอไมครอนว่า อาจทำให้เกิดการระบาดหลายระลอกในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงสถานที่ที่เกิดการระบาด

WHO ยังมีข้อเสนอแนะบางอย่าง เช่น การดำเนินการต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องดำเนินการทันทีเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโอไมครอนต่อไป

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มความพยายามในการเฝ้าระวังและจัดลำดับเหตุการณ์เพื่อเพิ่มความเข้าใจเรื่องการระบาดของสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโอไมครอน ในกรณีที่มีขีดความสามารถ ให้ดำเนินการสำรวจภาคสนามและประเมินผลทางห้องปฏิบัติการเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะของโอไมครอน สิ่งนี้ควรรวมถึงการตรวจหาเชื้อในชุมชนเพื่อตรวจสอบว่าโอไมครอนแพร่กระจายอยู่ในชุมชนแล้วหรือไม่

องค์การด้านสุขภาพระดับโลกยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัคซีนด้วย โดยระบุว่า

“เร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังได้วัคซีนไม่ครบถ้วน ให้ใช้แนวทางที่ยึดตามความเสี่ยงเพื่อปรับมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศให้ทันท่วงที”

ก่อนหน้านี้ WHO กำหนดให้โอไมครอนเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล เช่นเดียวกับ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา โดยระบุถึงข้อกังวลต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายในทางระบาดวิทยา

ทางการทั่วโลกแสดงปฏิกิริยาต่อสายพันธุ์โอไมครอนด้วยความตื่นตระหนก หลังมีรายงานการพบสายพันธุ์นี้ครั้งแรกในแอฟริกาใต้ โดยหลายประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางและควบคุมพรมแดนเข้มงวดยิ่งขึ้น

การวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อซ้ำ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่เคยติดเชื้อก่อนหน้านี้อาจกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีจำกัด

WHO ระบุด้วยว่า วัคซีนหลายชนิด โดยเฉพาะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน “เดลตา” สายพันธุ์ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต